Environmental Sustainability

‘พัชรวาท’ ประชุม กก.วล. เห็นชอบตั้งงบฯ แก้ปัญหา PM2.5 เสนอรูปแบบแยกขยะ กำหนดมาตรฐานน้ำทิ้งใหม่

“พัชรวาท” นั่งประธานประชุม “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” เห็นชอบตั้งงบประมาณ แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เสนอทำแผนแม่บทจัดการมลพิษทางเสียง-การสั่นสะเทือน จัดทำรูปแบบแยก-เก็บ-ขนขยะมูลฝอย พร้อมกำหนดมาตรฐานระบายน้ำทิ้งจากอาคาร-โรงงาน ให้เหมาะสมกับสภาพในปัจจุบัน

วันนี้ (20 ธ.ค.) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.)  ครั้งที่ 5/2566 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ รองประธานกรรมการ คนที่ 2 ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่กรรมการ และเลขานุการ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

DSC 4529

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า กก.วล. ได้เห็นชอบการจัดตั้งงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละออง และรับทราบความก้าวหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5

DSC 4559
จตุพร บุรุษพัฒน์

นอกจากนี้ กก.วล. ยังเสนอแผนแม่บทจัดการมลพิษทางเสียง และความสั่นสะเทือน และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการมลพิษทางเสียง และความสั่นสะเทือน 3 ระยะ เพื่อใช้เป็นแผนหลักกำหนดทิศทาง และกรอบแนวทางการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ในการจัดการมลพิษทางเสียง และความสั่นสะเทือน

DSC 4557
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช

พร้อมเสนอรูปแบบการคัดแยก และเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท โดยให้ความสำคัญกับการจัดการ ณ ต้นทาง ตั้งแต่การออกแบบการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Design) ส่งเสริมการบริโภคยั่งยืน โดยเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนรูปแบบการคัดแยก และเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท 2 ระยะ (2566-2570)  และเห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคาร 3 ประเภท คือ อาคารอยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ และอาคารสถานพยาบาล ให้มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น

ทั้งยังเห็นชอบให้มีการกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้ง จากโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหารสัตว์ เพื่อควบคุมการปล่อยสารอาหารลงสู่แหล่งน้ำ รวม 11  พารามิเตอร์

DSC 4644

คณะกรรมการชุดดังกล่าว ยังได้ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 4 โครงการ

  • โครงการทางหลวงหมายเลข 4 ตอนบ้านราชกรูด-อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
  • โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถี และถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี
  • โครงการถนนสายเสนอแนะ สาย ฉ ตามผังเมืองรวมชลบุรี พ.ศ. 2553 (ส่วนต่อขยายสะพานเลียบชายทะเลเดิม) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
  • โครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน และหินดินดาน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo