Telecommunications

‘วัชระ’ ร้องปปช. ดำเนินคดี ‘กสทช.’ ปมละเว้นปฎิบัติหน้าที่ ดีล ‘ทรู-ดีแทค’

“วัชระ เพชรทอง” ร้อง ป.ป.ช. ฟ้องดำเนินคดี “กสทช.” ปมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” จี้ กสทช.ชุดเก่า ออกประกาศ ปี 2561 ไม่ถูกต้องตามกระบวนการ หวั่นสร้างผลกระทบต่อประชาชนและผู้บริโภค

วันนี้ (19 พ.ค.) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึง ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทร คมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และ โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค”

เนื่องจากมีส่วนร่วม หรือสนับสนุนการกระทำอันผิดกฎหมาย และละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่งผลให้ประชาชนและผู้บริโภค ถูกลิดรอนสิทธิ์ในการเลือกใช้บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน

ทรู-ดีแทค

นายวัชระ ระบุว่า ทรู และดีแทค มีบริษัทลูกที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมอยู่หลายบริษัท ซึ่งการที่จะควบรวมกิจการกันนั้น จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับผู้บริโภค เพราะหากควบรวมกันแล้ว ทั้ง 2 บริษัทจะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 54% ซึ่งจะทำให้เป็นผู้มีอิทธิพลเหนือตลาดเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่ผ่านมา เคยมีหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างชัดเจนว่า เมื่อมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพียง 2 ราย จะทำให้ประชาชาชนผู้บริโภคเสียเปรียบอย่างยิ่ง

การควบรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัท จะลด หรือจำกัดการแข่งขันในตลาด เพราะจะทำให้สภาพตลาดกระจุกตัวสูง โดยมีค่าดัชนีการกระจุกตัว (HHI) ซึ่งใช้เป็นหลักการในการพิจารณาสภาพการแข่งขัน อยู่ที่ 3,575 จุด ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานของดัชนีที่ 2,500 จุด ตามประกาศ กสทช. 2561 แสดงว่า แม้ยังไม่มีการควบรวมใด ๆ เกิดขึ้น ตลาดโทรคมนาคม ก็กระจุกตัวสูงอยู่แล้ว

หากอนุญาตให้ควบรวมได้ จะทำให้บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 54% ดัชนีจะเท่ากับ 4,776 สูงขึ้นกว่าเดิมถึง 1,201 จุด ซึ่งโดยปกตินั้นค่าดัชนีดังกล่าว ไม่ควรสูงกว่า 1,500 จุด

นอกจากนี้ ยังลด หรือจำกัดการเกิดผู้แข่งขันรายใหม่ และจำกัดการเติบโตของผู้แข่งขันรายเล็กในตลาด เพราะโดยปกติแล้ว การควบรวมกิจการนั้นจะต้องพิจารณา ภาพความเป็นจริงของตลาดและอุตสาหกรรมว่า จะสนับสนุนหรือกีดกันผู้แข่งขันรายใหม่ในตลาด

แต่ในประเทศไทยนั้น เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า โอกาสของผู้ให้บริการรายใหม่ในการเข้ามาบริการไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากผู้แข่งขันที่แท้จริงแค่เพียง 3 ราย ส่วน บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) นั้น แม้จะเป็นทรัพยากรที่ใช้ในองค์กรจากกฏหมายเดิมอย่างเพียงพอ แต่เนื่องจากที่ผ่านมามาไม่ได้ประกอบกิจการด้วยตนเอง ได้มอบให้เอกชนรับสัมปทาน จนไม่มีความสามารถในการแข่งขัน

ทรู-ดีแทค

หากรายใหม่อยากเข้าสู่การแข่งขันก็ต้องใช้เงินลงทุนสูงมากขึ้นเพื่อก่อตั้งบริษัท ราคาของการให้บริการจะเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อมีการแข่งขันน้อยราย ก็จะไม่มีแรงจูงใจที่จะมีการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านราคา

อีกทั้ง ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูงในช่วงแรก ทั้งต้นทุนค่าคลื่นความถี่ การจัดสร้างโครงข่ายโทรคมนาคม แม้ในปัจจุบัน กสทช.จะกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าใช้บริการอยู่แล้ว แต่ด้วยการแข่งขันมีผู้ประกอบการ 3 รายหลักในตลาด ทำให้การแข่งขันด้านราคาเข้มข้น และสม่ำเสมอ ทำให้ราคายังไม่สูงมาก

ละเว้นปฏิบัติหน้า ดีลทรู-ดีแทค

ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น การควบรวมของ ทรูและดีแทค ส่งผลในหลากหลายด้าน แต่ กสทช.หน่วยงานที่กำกับดูแล กลับไม่โต้แย้ง หรือคัดค้าน และยังมีพฤติกรรมที่ส่อได้ว่า จะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เกิดการควบรวม ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญกฎหมาย และประกาศ ดังนี้

1. มาตรา 60 คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน กสทช.ต้องจัดมาตรการป้องกัน ไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือ สร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น ป้องกันการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลหรือข่าวสารที่ถูกต้อง และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป

2. หลักการห้ามผูกขาด ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 บัญญัติให้ การประกอบกิจการโทรคมนาคม ต้องอยู่ในบังคับของกฏหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า และห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอันมีลักษณะผูกขาด ในการแข่งขันกิจการโทรคมนาคม

แม้การกระทำดังกล่าวอาจจะกระทำโดยผู้รับใบอนุญาตเพียงรายเดียว หรือหลายรายร่วมมือกัน กสทช.ต้องกำหนดมาตรการป้องกันการผูกขาด ทำให้กลุ่มทรูและกลุ่มดีแทค ต้องรายงานรายละเอียดการควบรวมกิจการต่อเลขาธิการ กสทช. ก่อนการดำเนินการใด ๆ

3. ประกาศ กสทช. 2561 ยกเลิกประกาศฉบับเดิมปี 2553 ที่ระบุถึงหลักเกณฑ์และวิธีการถือหุ้น การถือหุ้นไขว้ การควบรวมกิจการ แต่ประกาศฉบับใหม่นี้กลับมีเจตนาให้ไม่มีเนื้อหารายละเอียด หลักเกณฑ์ และวิธีการ และที่จำเป็น รวมทั้งตัดทอนอำนาจพิจารณาการอนุมัติการกระทำ ที่ส่งผลด้านลบต่อการแข่งขัน อันถือว่าเป็นการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง เหลือเพียงแค่การกำกับโดยมาตรการเฉพาะภายหลังการควบรวมเท่านั้น

จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาให้เกิดการดำเนินการที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรฯ 2553 และ พ.ร.บ.โทรคมนาคมฯ 2544 และประกาศ กทช.ฯ 2553 ที่ยังบังคับใช้อยู่

ดังนั้น กสทช. จึงไม่อาจกล่าวอ้างประกาศ กสทช. 2561และกรอบเวลาตามประกาศดังกล่าวเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการเร่งรัดดำเนินการสอดรับกับการดำเนินการของผู้ยื่นขออนุญาตควบรวมได้

ทรู-ดีแทค

4. พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรฯ พ.ศ.2553 มาตรา 28 กำหนดให้ กสทช.ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไป เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา

แต่จากการตรวจสอบในระบบสำนักงาน กสทช.แล้ว พบว่าการออกประกาศ 2561 กสทช.ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น เฉพาะผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเท่านั้น จึงเป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และบังคับใช้ไม่ได้

5. การแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระ การรวมธุรกิจจะต้องเป็นไปตามประกาศฯ 2561 ข้อ 10 เมื่อ กสทช.ได้รับรายงานการควบรวมแล้ว ให้เป็นหน้าที่เลขาธิการ กสทช.แต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นไปตามภาคผนวกท้ายประกาศ

แต่มีข้อเท็จจริงว่า การแต่งตั้งที่ปรึกษาในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากเลขาธิการ กสทช.ที่ต้องหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม แต่กลับเสนอให้แต่งตั้ง บจก.เงินทุนหลักทรัพย์ ตามที่ผู้ขอรวมธุรกิจเสนอมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

6. การออกประกาศ กสทช. 2561 เป็นการออกประกาศเพื่อทำลายหลักกฎหมาย และเป็นประกาศที่ใช้บังคับไม่ได้ โดยเฉพาะในส่วนที่ระบุไว้ว่า การอนุญาตให้ดำเนินการรวมกิจการได้ แล้วค่อยกลับมารายงานต่อ กสทช.

ตามข้อเท็จจริง เมื่อ กสทช.ทราบว่า อาจจะเกิดการผูกขาด จะต้องสั่งห้ามในทันที แม้อยู่ในขั้นตอนการรวมธุรกิจ ไม่ใช่อ้างว่าไม่มีอำนาจ เนื่องจากประกาศ กสทช. ปี  2561 ได้ให้สิทธิผู้รวมธุรกิจไว้ โดย กสทช.จะแกล้งลืมหน้าที่ และอำนาจตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ เนื่องจากจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย และยากต่อการแก้ไขในอนาคต

นายวัชระ ยังเรียกร้องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยเรื่องนี้ โดยขอให้ดำเนินคดีกับ กสทช.ชุดเก่า ที่ออกประกาศ 2561 ที่ขัดกับกฎหมายและดำเนินการตามขั้นตอนที่ไม่ถูกต้องในการออกประกาศดังกล่าว พร้อมทั้งดำเนินคดีกับ กสทช.ชุดเก่า และชุดปัจจุบัน ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีการรวมธุรกิจ ทรูและดีแทค ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo