Telecommunications

ประชาพิจารณ์ ดีลควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ พุ่งประเด็น ‘ผูกขาด’

เปิดประชาพิจารณ์ บิ๊กดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” ยกประเด็นผูกขาด หวั่นกระทบอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เอไอเอสลั่น ตกเป็นผู้เสียหาย

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) ต่อกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ครั้งที่ 1 โดยมีกลุ่มภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

ควบรวม ทรู-ดีแทค

นายศุภัช ศุชลาศัย กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ ในฐานะประธานการประชุมฯ กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ความคิดเห็นจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ และความคิดเห็นจากผู้บริโภคทั่วไป

ควบรวม ทรู-ดีแทค หวั่นผูกขาด กระทบทั้งอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ภาพรวมจากการแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ พบว่า การควบรวมธุรกิจจะทำให้ผู้ให้บริการเหลือน้อยลง อาจมีผลในการผูกขาดในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือ และอาจสร้างผลกระทบกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมค่อนข้างมาก

ดังนั้น กสทช. ควรพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบที่จะกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อีกทั้งมองว่า กสทช.ควรมีบทบาทในต่อการรวมธุรกิจมากกว่าการเป็นเพียงผู้พิจารณารับรองการรวมธุรกิจ

ขณะเดียวกัน กสทช.ควรพิจารณาประเด็นทางด้านกฎหมาย ด้านเทคโนโลยี อัตราค่าใช้บริการและคุณภาพการให้บริการ รวมทั้งพิจารณาถึงผู้ให้บริการรายเดิมที่อยู่ในตลาดด้วยว่าจะอยู่ต่อไปได้หรือไม่ เนื่องจากมีตัวอย่างการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมในต่างประเทศ ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายเดิมต้องออกจากตลาดไป

นอกจากนี้ กสทช. ควรมีมาตรการกำกับดูแลในการควบรวมธุรกิจ เพราะหากเกิดผลกระทบเกิดขึ้นกสทช.ย่อมมีส่วนรับผิดชอบด้วย โดยในวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 จะมีการประชุมด้านเทคนิคในเรื่องดังกล่าว ก่อนที่จะเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช.เพื่อรับทราบต่อไป

222 2

ด้านนายศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า การควบรวมกิจการทรูกับดีแทค ย่อมส่งผลกระทบในหลายส่วนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเป็นการลดทางเลือก ด้านโปรโมชั่น ราคา และคุณภาพการให้บริการด้านสัญญาณ

เอไอเอสมองว่า การมีตัวเลือกของผู้ให้บริการ 3 ราย ย่อมส่งผลดีต่อผู้บริโภค แต่หากตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแค่ 2 ราย การแข่งขันจะลดน้อยลง และจะเป็นการสิ้นสุดเรื่องสงครามราคา เกิดการบริการที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม

ที่สำคัญคือ เอไอเอส เป็นผู้เสียหาย เพราะผู้ให้บริการที่ควบรวมจะมีการถือครองคลื่นความถี่เกินกว่าที่ประกาศ กสทช.กำหนด ดังนั้น หากมีการควบรวม กสทช.ควรมีวิธีการเยียวยาให้กับเอไอเอส ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

การควบรวม มีผลกระทบอย่างมาก ไม่ใช่แค่ โอเปอเรเตอร์ จะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง กับผู้บริโภค อุตสาหกรรม เกิดการลดการจ้างงานผู้รับเหมา และส่งผลต่อผู้ประกอบการรายย่อยด้วย

นายเจษฏา ศิวรักษ์ หัวหน้าธุรกิจสัมพันธ์และรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การควบรวม ทรู-ดีแทค ต้องพิจารณาว่ามีลักษณะผูกขาดหรือไม่ และกระทบกับผู้ประกอบการมากน้อยเพียงใด

ยกตัวอย่างการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ที่กสทช. ได้สร้างรายได้หลักแสนล้าน แต่ได้พิจารณาถึงผลกระทบต้นทุนความถี่หรือไม่ คำถามเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ กสทช.ต้องตอบให้ชัดเจน

นายเจษฏา ยังตั้งคำถามถึงบทบาทของ กสทช. ภายใต้บอร์ดชุดใหม่ 3 ประเด็นคือ

1. เป็นผู้กำกับดูแลแบบไหน ทำอย่างไรที่จะกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานให้พัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ

2. เจตจำนงค์ของบอร์ดชุดใหม่ จะทำอย่างไรให้เกิดการแข่งขัน เสรีอย่างเป็นธรรม กสทช.จะเป็นบทบาทแบบไหน จะเท่ากัน แต่ไม่เท่าเทียม หรือ จะเท่าเทียมแต่ไม่เท่ากัน กสทช.ควรจะมีบทบาทที่ชัดเจน ก่อนที่จะสรุปดีล ทรูฯ ดีแทค

3. ประโยชน์ของชาติ คือ ของใคร เป็นของ รัฐบาล หรือ ประชาชน หรือ ภาคธุรกิจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo