COLUMNISTS

เกาหลีใต้พัฒนาจาก OEM สู่ ODM และ OBM ได้อย่างไร?

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ตอน 8 ถอดบทเรียนเกาหลีใต้พัฒนาจาก OEM สู่ ODM และ OBM ได้อย่างไร

เป็นเรื่องที่น่าสนใจในการถอดบทเรียนว่าประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งในอดีตเคยเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลางโดยทั่วไป ซึ่งก็เคยเผชิญกับความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่อาศัยการเดิบโตทางเศรษฐกิจจากปัจจัยการผลิต (Factor-driven Economy) หรือเป็นประเทศที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตหรือ Original Equipment Manufacturing (OEM) ที่ทำได้เพียงการลอกเลียนแบบเทคโนโลยีในการผลิต สามารถเติบโตไปสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation-driven Economy)

เกาหลีใต้พัฒนา

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติที่ดีเลิศ (Best Practice) ของการพัฒนาประเทศที่ประสบความสำเร็จโดยอาศัยทุนมนุษย์และนวัตกรรม แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติก็ตาม

กุญแจแห่งความสำเร็จที่เกาหลีใต้พัฒนาชัดเจนคือ ความสามารถในการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศจากการเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต หรือ Original Equipment Manufacturing (OEM) ไปสู่การเป็นผู้ออกแบบ หรือ Original Design Manufacturing (ODM) และการเป็นผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของแบรนด์ หรือ Original Brand Manufacturing (OBM)

ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ ก็เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ที่การพัฒนาจะมุ่งเน้นไปในการผลิตขนาดใหญ่ (Mass Production) โดยมุ่งเน้นผลิตสินค้าที่มีราคาต่ำ (Low-cost Goods) และอาศัยแรงงานที่มีราคาถูก (Low-wage Labors)

ในระยะแรก รัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นผู้รับจ้างผลิตหรือ OEM ก่อน เนื่องจากเป็นระบบการผลิตที่มีความคุ้มค่าที่สุดแม้ว่าจะมีความสามารถทางเทคโนโลยีการผลิตที่ต่ำที่สุดก็ตาม เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีเพียงพอที่จะผลิตสินค้าได้ด้วยตัวเอง

shutterstock 1581400753

แม้ว่าในระยะนี้ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ จะเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตที่ดำเนินการผลิตตามข้อกำหนดที่มีความเฉพาะเจาะจง จากผู้ว่าจ้างจากต่างประเทศก็ตาม  แต่ก็ทำให้ผู้ผลิตของเกาหลีใต้สามารถยกระดับมาตรฐานของทักษะและผลผลิตผ่านกระบวนเรียนรู้ทางเทคโนโลยีและการถ่ายทอดความรู้ในกระบวนการผลิตต่าง ๆ

ในระบบการรับจ้างผลิตหรือ OEM ได้ทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้มีโอกาสเสริมสร้างขีดความสามารถในการเรียนรู้เทคโนโลยี ผ่านช่องทางที่หลากหลาย อาทิ การเป็นผู้ซื้อใบอนุญาตรับจ้างการผลิต (OEM Licensing) การเรียนรู้จากการทำงานในบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) การได้รับคำแนะนำทางเทคนิคจากการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับเจ้าของเทคโนโลยีในต่างประเทศ รวมไปถึงการที่รัฐบาลมุ่งเน้นการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเจ้าของเทคโนโลยีระดับสูงต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น เป็นต้น

กล่าวได้ว่า ในช่วง 30 ปีแรกของการพัฒนาภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ หรือช่วงระหว่างปี 1960-1990 ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะดำเนินการผลิตภายใต้ระบบการรับจ้างผลิต หรือ OEM โดยอยู่ภายใต้คำแนะนำทางเทคนิคและการเรียนรู้จากผู้ว่าจ้างในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะทำให้บริษัทต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างได้รายได้ และสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีบางอย่างจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากระบบ OEM ดังกล่าว แต่ทว่าในระยะยาวกลับประสบปัญหาอีกหลายประการ

ทั้งนี้ เนื่องจากความสำเร็จจากการผลิตที่มีประสิทธิภาพในระบบ OEM ย่อมนำมาซึ่งแนวโน้มอัตราค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้อัตรากำไรของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลง

shutterstock 2291579663

ในขณะเดียวกันตลาดแรงงานราคาถูกจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็อาจเข้ามาเป็นตัวเลือกทดแทน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปสู่ตลาดแรงงานราคาถูกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่คุณค่า (Global Value Chain) ระดับโลก

ดังตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในระบบ OEM ของเกาหลีใต้ทั้งในโรงงานผลิตเสื้อผ้า โรงงานผลิตรองเท้า โรงงานผลิตตุ๊กตา ฯลฯ นับเป็นจำนวนพัน ๆ โรงงานที่ต้องย้ายฐานการผลิตออกไปสู่ต่างประเทศ หรือปิดโรงงานในประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากอัตราค่าจ้างแรงงานในประเทศที่สูงกว่า

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้มีการผลิตในลักษณะรับจ้างผลิตหรือ OEM มากขึ้นเรื่อยๆ โรงงานต่าง ๆ ได้สั่งสมความสามารถด้านเทคโนโลยีการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นับเป็นเวลาหลายทศวรรษ

ในที่สุดโรงงานต่าง ๆ ของเกาหลีใต้ก็เริ่มมีศักยภาพและความสามารถในการพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์ของตนเองเพื่อที่จะพยายามหลุดพ้นจากกับดักของระบบรับจ้างผลิต (OEM Trap)

ต้องยอมรับว่าความสามารถในการยกระดับจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตหรือ OEM ไปสู่การเป็นผู้ออกแบบ ODM หรือการเป็นผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของแบรนด์ OBM ก็ตาม ล้วนเริ่มต้นมาจากกระบวนการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีและการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นเป็นตอนจากการรับจ้างผลิต OEM นั่นเอง

ความสำเร็จอันโดดเด่นของเกาหลีใต้ เป็นผลจากการผสมผสานและประยุกต์เทคโนโลยีของประเทศชั้นนำในระดับโลก เข้ากับการพัฒนาเทคโนโลยีตามแบบฉบับของเกาหลีใต้เอง

(อ่านต่อในตอนต่อไป)

บทความโดย ธนกร สังขรัตน์ กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่