COLUMNISTS

ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อย่างไร เพื่อควบคุมภาวะกรดยูริกในเลือดสูง

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ

ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อย่างไร เพื่อควบคุมภาวะกรดยูริกในเลือดสูง

ในปัจจุบันผู้คนใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบแข่งกับเวลา ทำให้เลือกทานอาหารที่รวดเร็วที่สุด ไม่มีเวลาใส่ใจในการดูแลสุขภาพ เพราะเหตุนี้เองทำให้ร่างกายของเราขาดสารอาหารหรือได้รับสารอาหารที่เกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ โดยเฉพาะภาวะกรดยูริกในเลือดสูงที่ส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพตามมาอีกมาก ฉะนั้นวันนี้เราไปทำความรู้จักกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการเลือกรับประทานอาหาร ไปรู้จักพร้อม ๆ กันเลย

กรดยูริก

ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ส่งผลเสียอย่างไรต่อสุขภาพ?

ภัยเงียบจากภาวะกรดยูริกสูง กรดยูริคสามารถเกิดจากร่างกายสร้างขึ้นเอง 80% และการเลือกรับประทานอาหารอีก 20% และกรดยูริกที่มาจากอาหารเกิดจาก “สารพิวรีน” ที่สามารถเปลี่ยนสารนี้ให้กลายเป็นกรดยูริกได้ ซึ่งหากเรามีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงอาจส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคร้าย เช่น โรคเกาต์ โรคนิ่ว โรคไตอักเสบ โรคหัวใจหลอดเลือด และรวมถึงโรคอ้วน

ทานอะไรช่วยลดภาวะกรดยูริกในเลือดสูง?

อยากทราบกันจากข้างต้นว่า 20% ของภาวะกรดยูริกในเลือดสูง เกิดจากการรับประทานอาหาร แต่จะมีอาหารประเภทไหนที่ควรรับประทานและหลีกเลี่ยงบ้าง ไปทำความรู้จักพร้อมกันเลย

  • ลดการทานเนื้อสัตว์ ในเนื้อสัตว์ไม่ใช่แค่ เป็ด ไก่ เท่านั้น แต่รวมไปถึงเนื้อสัตว์ชนิดอื่น เพราะสารที่ร่างกายนำไปสร้างยูริกคือ DNA จากสัตว์ ดังนั้นหากต้องเลือกทานควรทานในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไป นอกจากเนื้อสัตว์แล้วรวมไปถึงน้ำซุปจากสัตว์ เช่น น้ำซุปกระดูกหมู น้ำซุปกระดูกวัว น้ำซุปกระดูกไก่
  • ไม่รับประทานอาหารมัน เช่น ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน เนื่องจากทำให้การขับกรดยูริกได้น้อยลง
  • หลีกเลี่ยงการทานถั่ว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง
  • ผักบางชนิด หน่อไม้ สะเดา ยอดกระถิน ผักโขม ชะอม
  • ลดแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็น เหล้า ไวน์ เบียร์ เพราะแอลกอฮอล์ส่งผลให้การขับกรดยูริกทางปัสสาวะลดลง และกรดยูริกในเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ดังนั้นหากไม่รับประทานเลยจะส่งดีต่อสุขภาพ
  • ลดการดื่มน้ำอัดลม น้ำอัดลมเองก็เป็นสาเหตุหลักให้เกิดกรดยูริกสูง เนื่องจากในน้ำอัดลมจะมีน้ำตาลฟรุกโตส เมื่อได้รับน้ำตาลฟรุกโตสในปริมาณมากร่างกายจะมีการเผาผลาญฟนุกโตสไปเป็นกรดยูริกในเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ดังนั้นควรลดหรืองดได้เลยยิ่งจะดี
  • ลดผลไม้ที่มีรสหวาน ในผลไม้เองก็มีน้ำตาลฟรุกโตสจึงไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก แต่ยังสมารถรับประทานได้ และไม่ควรทานน้ำผักหรือผลไม้ปั่นเนื่องจากมีน้ำตาลฟรุกโตสสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะน้ำผลไม้กล่อง ที่มีน้ำตาลสูงมากแนะนำให้รับประทานเป็นเนืั้อผักผลไม้จะดีกว่า
  • ทานโซดามินท์ (Sodium Bicarbonate) เพราะการทานโซดามินท์สามารถช่วยป้องกันภาวะเลือดเป็นกรด และเมื่อทานแล้วร่างกายเป็นด่างจะสามารถขับกรดยูริกออกได้ดีขึ้น ควรรับประทานครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง ไม่รับประทานพร้อมอาหาร และทานในเวลาท้องว่างเท่านั้น หากทานพร้อมอาหารอาจทำให้ความเป็นด่างเข้าไปแล้วส่งผลให้ย่อยอาหารได้ไม่ดี
  • เลือกดื่มน้ำแร่ เพราะกรดยูริกส่วนมากถูกขับออกทางปัสสาวะ การดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ก็สามารถช่วยให้ขับกรดยูริกได้ดีขึ้น โดยเฉพาะน้ำแร่ที่มีความเป็นด่าง แต่ไม่ควรดื่มน้ำ RO (Roverse Osmosis) เนื่องจากไม่มีแร่ธาตุในน้ำและมีความเป็นกรด

กรดยูริก

เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ชีวิต ไม่ใกล้ชิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูง

นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารแล้ว การใช้ชีวิตเองก็มีผลต่อสุขภาพร่างกายเช่นกัน

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมและงดอาหารที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูง และไม่รับประทานอาหารที่ไม่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง และลดปริมาณน้ำหวานรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ถ้าหากใครงดได้ยิ่งจะดีต่อร่างกาย
  2. ดื่มน้ำให้เยอะ หลาย ๆ คนอาจดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อร่างกาย ในหนึ่งวันควรดื่มน้ำให้ได้ปริมาณ 8-9 แก้วต่อวัน หากใครดื่มน้ำไม่บ่อยให้ลองนำน้ำมาไว้ใกล้ ๆ ตัวเอง แล้วจิบน้ำเรื่อย ๆ หลาย ๆครั้งต่อหนึ่งวัน อาจทำให้ชินเป็นนิสัยการดื่มน้ำ และหากพูดถึงผลของการดื่มน้ำน้อยจะส่งผลต่อระบบต่าง ๆ เช่น การไหลเวียนเลือด ร่างกายรับน้ำได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งผลให้เลือดหนืดข้น และในภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ยิ่งควรดื่มน้ำให้มากเพราะกรดยูริกขับออกทางปัสสาวะนั่นเอง
  3. ออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนัก ในคนที่มีน้ำหนักมากหรือมีโรคอ้วนมักขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้น้อย และเมื่อน้ำหนักมากเกินกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นตามมาอีกมาก เพราะฉะนั้นควรออกกำลังกายเป็นประจำอาทิตย์ละ 3-4 วัน เพื่อสุขภาพที่ดีแข็งแรงห่างไกลข้ออักเสบและภาวะกรดยูริกในเลือดสูงได้อีกด้วย
  4. สังเกตสุขภาพตนเอง สังเกตอาการของร่างกายตนเองและมีการเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดโรคและแก้ไขได้ทันหากมีอาการผิดปกติ

เปลี่ยนสักนิด ชีวิตห่างไกลภาวะกรดยูริกในเลือดสูง

ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องคำนึงถึงคือเรื่องสุขภาพร่างกาย ยิ่งดูแลร่างกายดีมากเท่าไหร่ ในอนาคตโรคภัยก็ยิ่งน้อยลง ฉะนั้นอย่าลืมให้ความสำคัญกับร่างกายของตนเองด้วยการรับประทานอาหารที่ดีและออกกำลังกายเป็นประจำ และอย่าลืมไปพบแพทย์ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อสำรวจและวางแผนสุขภาพในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่