COLUMNISTS

ภาวะการเปลี่ยนเเปลงของผู้สูงอายุที่ลูกหลานต้องรู้!

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ

ภาวะการเปลี่ยนเเปลงของผู้สูงอายุที่ลูกหลานต้องรู้!

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นร่างกายก็เปลี่ยงแปลงไปตามกาลเวลา ไม่ใช่เพียงร่างกายแต่มีความเสื่อมสภาพลง แต่รวมไปถึงจิตใจ อารมณ์ การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรมการใช้ชีวิต แต่รวมถึงผู้ดูแลอย่างลูก หลาน ญาติ ที่ต้องทำความเข้าใจภาวะการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและอบอุ่นใจ

ผู้สูงอายุ

การเปลี่ยนแปลงสู่วัยผู้สูงอายุ

การเปลี่ยนแปลงแรกในผู้สูงอายุที่พบบ่อย คือการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ

การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย

  • ผิวหนัง คอลลาเจนและไขมันใต้ผิวหนังจะลดลง ผู้สูงอายุจะหนาวง่าย และผิวหนังเริ่มเกิดการหย่อยคล้อย แห้งกร้าน ไม่กระชับ ควรเลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวอย่างสบู่เด็ก และควรทาโลชั่นให้ความชุ่นชื้นแก่ผิว นอกจากนี้เซลล์ในร่างกายสูญเสียความสามารถในการสร้างเม็ดสี ทำให้ผิวเกิดกระและขนสีจางลง จนกลายเป็นสีขาว
  • ฟัน ฟันเกิดการแตกหักหรือหลุดง่าย ทำให้การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ส่งผลให้ระบบทางเดินทำงานหนักเพราะน้ำย่อยในกระเพาะอาหารน้อยลง อาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการท้องอืดได้ ควรจัดอาหารอ่อน ชิ้นเล็ก พเื่อให้ผู้สูงอายุรับประทานและย่อยง่าย
  • สายตาและการมองเห็น ความสามารถในการมองเห็นลดลง เนื่องจากขนาดของลูกตาเล็กลง หนังตาเหี่ยว หนังตาตก รูม่านตาลดลง เวลากลางคืนหรืออยู่ในที่มืดจึงมองไม่เห็น หรือผู้สูงอายุบางคนสายตายวมากขึ้นมองระยะใกล้ไม่ชัด ความสามารถในการแยกสีลดลง รวมถึงกล้ามเนื้อตาเสื่อมอาจเกิดการเวียนศีรษะ และควรระวังการให้ผู้สูงอายุเดินในที่ที่แสดงสว่างไม่เพียงพอและควรจัดเก็บทุกอย่างอย่างเป้นระเบียบ เนื่องจากอาจสะดุดล้มและส่งผลให้ร่างกายเสียหายได้
  • การได้ยินลดลง ความสามารถของประสาทรับเสียงลดลง อาจมีภาวะหูตึง ไได้ยินเสียงโทรต่ำชัดกว่าเสียงโทนสูง ผู้ดูแลผู้สูงอายุควรเข้ามาพูดใกล้ ๆ ไม่ตะโกนหรือเสียงดัง พูดช้า ๆ ชัด ๆ พูดด้วยความใจเย็น เพราะการไม่ได้ยินเป็นธรรมชาติของผู้สูงอายุ
  • การพูด ผู้สูงอายุอาจพูดเสียงเบา ไม่มีแรง เนื่องจากกระดูกอ่อนบริเวณกล่องเสียงแข็งและขาดความยืดหยุ่น
  • กระดูกและกล้ามเนื้อ แคลเซียมเกิดการสลายออกจากข้อกระดูกมากขึ้น ส่งผลให้กระดูกเปาะ กระดูกพรุน หมอนลองกระดูกเสื่อม และส่งผลให้เกิดการหลังค่อม รวมไปถึงความแข็งแรงของกล้ามเน้ือลดลงกล้ามเนื้อลีบ ส่งผลให้การเคลื่อนไหวร่างกายไมคล่องตัว ผู้สูงอายุควรได้รับประทานอาหารที่เสริมแคลเซียม เช่น นม ปลา ผัก และควรออกกำลังกายแอโรบิก โยคะ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  • ระบบในร่างกายเสื่อม เช่น ระบบการย่อยอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบฮอร์โมน ระบบทางเดินหายใจ ทำงานได้ลดลงส่งผลให้ร่างกายเกิดโรคได้ง่ายขึ้น

ผู้สูงอายุ

การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจของผู้สูงอายุ

การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจและอารมณ์ที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่

  • ภาวะทางด้านอารมณ์ ผู้สูงอายุมักมีอาการซึมเศร้า หงุดหงิด วิตกกังวล เอาแต่ใจ มักคิดอะไรซ้ำ ๆ ขาดความพึงพอใจในชีวิต กลัวการถูกทอดทิ้งและยึดมั่นในความคิดของตนเอง
  • ภาวะด้านความจำ ผู้สูงอายุมักหลงลืม เนื่องจากเนื้อสมองเกิดการเสื่อมสลาย จำเรื่องในอดีตได้ดีกว่าปัจจุบัน ผู้สูงอายุมักถามคำถามเดินบ่อยครั้งเนื่องจากจำไม่ได้ ผู้ดูแลจึงควรอธิบายด้วยความใจเย็นและเข้าใจในธรรมชาติของปัญหาผู้สูงอายุ
  • ภาวะทางพฤติกรรม ผู้สูงอายุมักพูดอะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ แบะในบางคนไม่กล้าเข้าสังคมหรืออกไปพบเจอคนอื่น เนื่องจากกลัวการเป็นภาระให้ผู้ที่ดูแล ผู้สูงอายุกลุ่มนี้อาจมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าได้

การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ เรียกได้ว่าเป็นวัยที่ถูกถอดบทบาทออกจากสังคม ไม่ต้องทำงานและมีเพียงสังคมที่บ้าน อาจทำให้รู้สึกด้อยค่าตนเอง ขาดความมั่นใจและศักดิ์ศรีลดน้อยลง รวมถึงรู้สึกเหงาเนื่องจากไม่มีบทบาทใด ดังนั้นผู้ดูแลจึงควรให้ความสนใจผู้สูงอายุ โดยการหางานอดิเรกให้ทำ เช่น ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย หรือพาไปพบปะกับสังคมผู้สูงอายุ ท่องเที่ยวธรรมชาติ และหากิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัว เพื่อให้ผู้สูงอายุไม่เหงาและรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า หากปล่อยปะละเลยผู้สูงอายุอาจเกิดโรคซึมเศร้าขึ้นได้

ผู้สูงอายุ

ปัญหาสุขภาพที่ผู้สูงอายุควรระวัง!

  • ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เมื่อไม่ได้มีบทบาทและควาเมป็นผู้นำมากเท่าเดิม ผู้สูงอายุจะมักคิดว่าตนเองไม่มีคุณค่า และน้อยใจว่าตนเป็นภาระของลูกหลาน กลัวการถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว
  • การนอนหลับยาก เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายและระบบภายใน การเปลี่ยนแปลงของสมองทำให้หลับไม่ลึก หลับ ๆ ตื่น ๆ ดังนั้นควรให้ผู้สูงอายุเข้านอนเป็นเวลา ไม่เข้านอนเร็วเกินไป หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน จัดห้องให้เอื้ออำนวยต่อการนอนหลับ ไม่มีแสงสว่างเข้ามา
  • เบื่ออาหาร เนื่องจากประสาทสัมผัสในการรับกลิ่นลดลง และประสาทสัมผัสการรับลดชาติลดลง ผู้ดูแลควรหาเมนูใหม่ ๆ มารับประทานร่วมกันในครอบครัว และพาออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านเพื่อให้ผู้สูงอายุได้เจอสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ
  • การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มักเจอสาเหตุนี้ในผู้หญิงสูงอายุมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากหูรูดเสื่อมสภาพ ในบางคนอาจเกิดการบีบตัวของกระเพราะปัสสาวะ ทำให้ควบคุมการปัสสาวะไม่ได้จนเกิดเป็นปัญหาในการใช้ชีวิต ผู้สูงอายุจึงไม่ควรกลั้นปัสสาวะนาน ๆ เข้าห้องน้ำให้บ่อย

ดูแลใส่ใจผู้สูงอายุอย่างถูกวิธี สุขภาพดีจิตแจ่มใส

การดูแลผู้สูงอายุต้องใช้ความเข้าใจกับธรรมชาติและปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และให้ความสำคัญกับผู้สูงวัยทั้งด้านสภาพร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้อย่าลืมหากิจกรรมทำร่วมกันเพื่อให้ผู้สูงอายุไม่เกิดความเครียด เมื่อสภาพแวดล้อมดี ผู้สูงอายุก็จะมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงอย่างแน่นอน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่