COLUMNISTS

ถอดบทเรียน ‘โรงงานพลุระเบิด’ โศกนาฏกรรมซ้ำซาก

Avatar photo
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นักการเมืองรุ่นใหม่ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกบทบาท

ถอดบทเรียน “โรงงานพลุระเบิด” โศกนาฏกรรมซ้ำซาก ถึงเวลาเอาจริง เรื่องความปลอดภัยแล้วหรือยัง!

เหตุการณ์โรงงานพลุระเบิด ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 23 ราย และบาดเจ็บสาหัสอีกหลายคน ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ถือเป็นโศกนาฏกรรมระดับโลก สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่าไม่ได้

โรงงานพลุระเบิด
ภาพจาก ปภ.สุพรรณบุรี

ถึงเวลาเอาจริง เรื่องความปลอดภัยแล้วหรือยัง! เพราะกรณีเหตุการณ์พลุระเบิดไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งแรก แต่เกิดเหตุซ้ำแล้วซ้ำอีก สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นเหตุโรงงานพลุระเบิดที่จังหวัดพิจิตร มีผู้เสียชีวิต 4 ราย โรงงานพลุระเบิดที่จังหวัดเชียงใหม่มีผู้บาดเจ็บสาหัสนับ 10 ราย บ้านเรือนใกล้เคียงพังเสียหายหลายหลัง โกดังเก็บพลุระเบิดในพื้นที่ตลาดมูโนะ จังหวัดนราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บ 121 คน บ้านเรือนเสียหายกว่า 200 หลัง และจุดเกิดเหตุครั้งล่าสุดนี้ก็เคยเกิดระเบิดมาแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

ทุกประเทศเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ส่วนใหญ่จะเกิดมาจาก 3 เรื่อง คือ 1.ทางด้านกายภาพ คือ โครงสร้าง 2.คือกระบวนการ และ 3.คือมนุษย์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สุพรรณบุรี ไม่ผ่านทั้ง 3 เรื่องเลย ทางด้านโครงสร้าง หลังคาเป็นสังกะสี พื้นที่ทั้งหมดอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน ซึ่งตามหลักแล้ว โรงงานที่ผลิตพลุดอกไม้เพลิง วัตถุระเบิด วัตถุดิบต้องแยก ส่วนที่เป็นกระบวนการผลิตต้องแยกออกมา และทำเสร็จแล้วแพ็คเกจจิ้ง จัดเก็บก็ต้องแยก แต่ที่นี่รวมกันหมดเลย ดังนั้นเกิดเหตุอะไรก็ระเบิดหมดเลย

ที่ผ่านมาผมได้ออกมาเตือนเรื่องพลุระเบิดหลายครั้ง โดยมี 4 สาเหตุที่น่าเป็นห่วง เพื่อหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปใช้ประโยชน์ เคร่งครัด ตรวจสอบ โรงงานหรือโกดังที่เก็บพลุหรือวัตถุระเบิด ซึ่งแทบทุกที่เกิดเหตุ สภาพน่าเป็นห่วงมาก คือ

โรงงานพลุระเบิด

1. โครงสร้างอาคารไม่แข็งแรง ดูไม่เหมาะเป็นโรงงานที่ต้องผลิตวัตถุระเบิดได้และติดไฟ เพราะบางแห่งเป็นโครงสร้างไม้ ไม่แข็งแรง และติดไฟง่ายมาก บางแห่งเป็นโครงสร้างเหล็กบาง ๆ ดูพังง่าย ไม่มั่นคงเลย หลังคาก็มุงสังกะสี บอบบาง เพราะคนเสียชีวิตอาจมีจำนวนมาก หากโรงงานถล่มทับ

2. ห้องเก็บวัตถุระเบิดไม่มีมาตรฐาน การจัดเก็บวัตถุอันตราย ต้องมีมาตรฐานสูง คนดูแลต้องมีใบอนุญาต และการตรวจสอบที่เคร่งครัด เท่าที่เห็น หลายโรงงานไม่มีห้องเก็บแยกด้วยซ้ำ ทุกอย่างกองรวมกัน ตั้งแต่ผลิต จัดเก็บ รอส่ง อันตรายมาก

3. ระบบดับเพลิงที่ใช่ไม่มี อาจจะมีแต่ผมไม่เห็นท่อน้ำดับเพลิงเลย โรงงานวัตถุระเบิดจำเป็นต้องมีระบบดับเพลิงที่ดีกว่าโรงงานทั่วไป เพราะความเสี่ยงสูงมาก

4. คนงานไม่มีความรู้ ไม่มีความเชี่ยวชาญ การอยู่กับวัตถุระเบิด ต้องอาศัยความรู้ ที่แม่นยำสูง ต้องได้รับการอบรม ต้องมีใบอนุญาต ของทั้งโรงงาน และของผู้ปฏิบัติการ แต่เท่าที่เรารู้ หลายแห่ง อาจไม่มีสักอย่าง

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้จนถึงครั้งล่าสุดได้สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล แต่สังคมยังไม่ได้รับคำตอบ ยังไม่ถอดบทเรียน ไม่เคยได้รับความสนใจ หรือนำบทเรียนไปใช้ประโยชน์ สุดท้ายเหตุโรงงานระเบิดไม่ว่าจะเป็นโรงงานอะไรก็ตามจึงเกิดขึ้นซ้ำซากแบบนี้ ถึงเวลาที่เราต้องร่วมกันผลักดันกฏหมายฉบับประชาชน เพื่อจัดตั้ง องค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ให้ครบ 10,000 รายชื่อที่ suchatvee.com เพื่อเป็นตัวแทน ป้องกัน ติดตาม และถอดบทเรียนภัยพิบัติ ดูแลประชาชน เพราะการมีชีวิตอย่างปลอดภัย คือ สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน จริงไหมครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่