Media

‘เฟซบุ๊ก’สื่อหลักพรรคการเมืองหาเสียง แห่เปิดเพจ ‘ไลฟ์’กิจกรรมคึกคัก

แม้การเลือกตั้งยังไม่กำหนดชัดเจนว่า จะเป็นวันที่เท่าไหร่  แต่ก็ต้องเกิดขึ้นในปีนี้อย่างแน่นอน!!

สัญญาณนี้ทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งเริ่มคึกคักตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เพราะทั้งพรรคการเมือง และนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นหน้าเก่า หรือหน้าใหม่ ทั้งนักธุรกิจ เซเลบ คนดัง นักแสดง ต่างมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ประกาศตัวลงสนามชิงตำแหน่ง ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งนี้

หากโฟกัสในแง่มุม “กลยุทธ์การสื่อสาร” ที่นำมาใช้ในการหาเสียงปีนี้ คงต้องย้อนกลับไปดูสิ่งที่แตกต่างของการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2554 คือ ภูมิทัศน์สื่อที่ใช้เป็น “เครื่องมือ” หาเสียงมีความแตกต่างไปจากเดิม

โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ “เฟซบุ๊ก” ที่เข้ามามีอิทธิพลในการสื่อสารกับผู้คน “ทุกวัย” ในปี 2554 ประเทศไทยมีผู้ใช้เฟซบุ๊ก 6.9 ล้านบัญชี ปัจจุบันมีกว่า 50 ล้านบัญชี  เพราะในยุคไทยแลนด์ 4.0 คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้วสัดส่วน 82% ของประชากรไทย หรือพูดได้ว่าคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตเกือบ 100%  มีบัญชีเฟซบุ๊ก

ดังนั้นการเลือกตั้งปี 2562  สื่อที่จะเป็นเครื่องมือหลักในการหาเสียง คงต้องยกให้โซเชียล มีเดีย อย่าง “เฟซบุ๊ก”  สะท้อนได้จากการสำรวจความเห็น คนไทยคิดอย่างไร? กับการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ที่สำรวจโดยสวนดุสิตโพล ในปีที่ผ่านมา

ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่า การหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นวิธีการที่ดี ทันสมัย ช่วยประหยัดเวลาและงบประมาณ  48.15% อีกทั้ง ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวก สามารถแสดงความคิดเห็นถามตอบได้ 34.57%

โดยวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ที่ถูกใจประชาชนมากที่สุด คือ การตั้งเวทีปราศรัย  29.32%  ส่วนการใช้สื่อโซเชียลมีเดียมาเป็นอันดับสองที่ 26%  จะเห็นได้ว่าสื่อโซเชียลมีบทบาทสำคัญ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงของพรรคการเมืองและนักการเมืองในครั้งนี้

ผู้ติดตามเฟซบุ๊กพรรคการเมือง v1 01

จัดกิจกรรมผ่านเฟซบุ๊กเพจคึกคัก

ตั้งแต่ปลายปีก่อนที่มีความชัดเจนการเรื่องการจัดเลือกตั้งในปี 2562  พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มทำกิจกรรมผ่านเฟซบุ๊กเพจกันอย่างคึกคัก

แม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังต้องเข้าสู่สังคมออนไลน์ เปิดใช้สื่อโซเชียลมีเดียครบทุกช่องทางทั้ง เฟซบุ๊กเพจ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม

ส่วนพรรคการเมือง ที่เปิดใช้เฟซบุ๊กเพจมาก่อนหน้านี้ เริ่มมีกิจกรรมแอคทีฟมากขึ้นในช่วงนี้ ทั้งกิจกรรมแถลงนโยบายของพรรคการเมือง การจัดกิจกรรมสัมมนารูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นการแนะนำพรรค และผู้สมัคร ส.ส. การจัดรายการพูดคุยสนทนาของสมาชิกพรรคในประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม ข่าวกระแสที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยใช้ “เฟซบุ๊กไลฟ์”เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับผู้ติดตาม

นอกจากนี้ว่าที่ ผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่  ที่ประกาศตัวลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ต่างเปิดเฟซบุ๊กเพจกันอย่างคึกคัก หรือที่เปิดไว้อยู่แล้วก็เริ่มกลับมาแอคทีฟ เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารและหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าช่วงนี้ ทั้งพรรคการเมือง นักการเมืองเก่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ต่าง ซื้อ Boost Post เฟซบุ๊กกันล่วงหน้า ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงเวลาการหาเสียง ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด

ผู้ติดตามเฟซบุ๊กพรรคการเมือง v2 01

“เฟซบุ๊ก”สื่อหลักหาเสียง

ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) กล่าวว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ “โซเชียล มีเดีย” อย่างเฟซบุ๊ก จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาเสียงของพรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส. เป็นช่องทางการนำเสนอนโยบายพรรค การปราศรัยหาเสียงในเวทีพร้อมเฟซบุ๊กไลฟ์ ที่ถือเป็นช่องทางการสื่อสารฟรี แต่สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เสพสื่อออนไลน์เป็นหลัก

โดยจะใช้วิธีให้สมาชิกพรรค ผู้สมัคร ส.ส. แชร์คอนเทนท์เพื่อสื่อสารกับแฟนคลับ ที่ถือเป็น earn media ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่สามารถสร้างการรับรู้ให้กับพรรคและผู้สมัคร ส.ส.ได้เป็นอย่างดี

ในครั้งนี้ยังเห็นผู้สมัครกลุ่มเซเลบ ดารา นักแสดง ที่มีแฟนคลับและผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้ว ประกาศตัวลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่ง ถือเป็นกลุ่มอินฟลูเอ็นเซอร์  ที่ช่วยหาเสียงและสร้างการรับรู้ให้กับพรรคการเมือง

นอกจากพรรคการเมืองแล้ว “หัวหน้าพรรค” รวมทั้ง “แกนนำพรรค” ยังมีส่วนสำคัญในการหาเสียงสร้างการรับรู้ให้กับพรรคการเมือง จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปลายปี ผู้นำพรรคต่างมีกิจกรรมมานำเสนอบนหน้าเฟซบุ๊กทุกวัน ก่อนจะเข้าสู่ช่วงเวลาการหาเสียงและเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

ppp55

ab

anu

สื่อออนไลน์เจาะ New Voter

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด กล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ “สื่อออนไลน์”  จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกจำนวน 7-8 ล้านคน โดยจะมีการวางกลยุทธ์สร้าง “คอนเทนท์” รูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างกระแสผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อสร้างกระแสไวรัล การรับรู้เกี่ยวกับพรรคการเมือง และผู้สมัคร ส.ส. นอกจากนี้จะมีการสื่อสารผ่าน อินฟลูเอ็นเซอร์ และ KOL (Key Opinion Leader) อีกช่องทาง เพราะเป็นบุคคลที่มีผู้ติดตามผ่านสื่อออนไลน์จำนวนมาก และมีอิทธิพลต่อการจูงใจและสร้างการรับรู้พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง

นอกจากนี้พรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส. สามารถสร้างสื่อออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ ได้เองอยู่แล้ว  ซึ่งจะใช้เป็นเครื่องมือ สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย แต่การซื้อโฆษณาผ่านสื่อดังกล่าว  ต้องรอนโยบายที่ชัดเจนของ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สื่อโฆษณาอย่างไร

“การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเห็นกลยุทธ์การแข่งขันสร้างสรรค์คอนเทนท์ เพื่อสร้างกระแสไวรัลผ่านสื่อออนไลน์อย่างมาก เพื่อหวังเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก”

batch น้องจินนี่ 5

ตัวอย่างการหาเสียงที่สร้างกระแสไวรัลในโลกโซเชียลที่ผ่านมา กรณี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย พาบุตรสาว น้องจินนี่ ยศสุดา ลีลาปัญญาเลิศ  ที่มีหน้าตาน่ารัก จนกลายเป็นขวัญใจชาวโซเชียล และเกิด #พรรคเพื่อเธอ ถือเป็นอีกรูปแบบการสร้างคอนเทนท์ที่ช่วยสร้างการรับรู้ให้พรรคและผู้สมัคร

Avatar photo