Media

‘ทีดีอาร์ไอ’ ค้านใช้ ‘ม.44’ อุ้ม 2 ค่ายมือถือ

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์2
ภาพจาก tdri.or.th

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ใช้อำนาจในมาตรา 44 ขยายเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรซ์ออกไปอีก 5 งวด จากเดิมจะสิ้นสุดในปี 2563 ให้กับ 2 บริษัทประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทลูกของเอไอเอส และบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC ในเครือของบริษัททรูนั้น ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะช่วยเหลือ 2 บริษัทดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่สอดคล้องกับนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่ระบุว่า แนวทางการช่วยเหลือจะต้องคำนึงถึง 2 ด้าน คือ ต้องให้เอกชนประกอบธุรกิจได้ ไม่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน และให้เอกชนยอมรับความจริง เนื่องความเสี่ยงทางธุรกิจ และต้องไม่ทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์

ทั้งนี้จากการพิจารณาข้อเสนอของ กสทช. พบว่า การเสนอแนวทางขยายเวลาผ่อนชำระดังกล่าว จะทำให้ผิดหลักนโยบาย ของพลเอกประยุทธ์ เนื่องจากจะทำให้ผิดหลักเกณฑ์ 4 ด้าน คือ

1.ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า ทั้ง 2 บริษัทยังมีผลประกอบการที่ดี โดยปีที่ผ่านมาบริษัทเอไอเอสมีกำไรถึง 30,000 ล้านบาท ขณะที่ทรูมีกำไร 2,300 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังพบว่า บริษัททรูยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 18.8% เป็น 26% ในไตรมาส 2/2560 ดังนั้น จึงเห็นว่า ไม่สมเหตุสมผลหากจะเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจากธุรกิจของทั้ง 2 บริษัทยังดำเนินกิจการได้ดี สอดคล้องกับมุมของนักวิเคราะห์ที่ออกมาระบุว่า ฐานะทางการเงินยังแข็งแกร่ง

2.ด้านผลกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งหากเข้าไปช่วยเหลือในขณะที่ผู้ประกอบการยังดำเนินธุรกิจได้นั้น จะทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจต่อกฎระเบียบ หรือ นโยบาย กติกาที่ออกมา ว่าสามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขได้ รวมถึงอาจทำลายความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน รวมถึงประเทศไทยโดยรวม และกสทช.เอง ที่เป็นผู้กำกับดูแล เนื่องจากอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย

3.การดำเนินการธุรกิจปกติ เอกชนจะต้องยอมรับความเสี่ยงของธุรกิจที่เป็นเรื่องปกติ และการทำธุรกิจใดใดไม่ได้การันตีว่าผลประกอบการจะต้องออกมาดีเสมอไป และการประมูลคลื่นดังกล่าว เป็นการประมูลโดยสมัครใจของผู้ประกอบการเอง และรับรู้เงื่อนไขการผ่อนจ่ายอยู่แล้ว

“พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำว่า ทุกอย่างจะต้องไม่ทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย ดังนั้น ข้อเสนอของ กสทช.ที่บอกว่า หากขยายเวลาการชำระจะมีค่าดอกเบี้ย 1.5% นั้น ถือว่า ไม่สมควร เพราะโดยเงื่อนไขแล้ว หากชำระล่าช้า จะมีค่าภาระดอกเบี้ยที่เอกชนจะต้องจ่าย 15% หรือ ประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งในหลักการผู้ประกอบการสามารถกู้เงิน หรือ ออกตราสารหนี้ รวมถึงการเพิ่มทุนมาจ่ายให้ตรงตามงวดได้ ซึ่งคิดเป็นต้นทุนเฉลี่ยเพียง 9% เท่านั้น ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยที่ กสทช.ระบุว่า 1.5% นั้น จะทำให้รัฐสูญรายได้ที่จะได้จากดอกเบี้ยถึง 30,000 ล้านบาท ซึ่งมันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน และอัตราดอกเบี้ยที่กสทช.ยกมา เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่คิดในเชิงพาณิชย์ ข้อนี้จึงไม่สมเหตุสมผล” นายสมเกียรติ กล่าว

4.ส่วนกรณีที่ กสทช.ยกข้ออ้างมาระบุว่า หากไม่ขยายเวลา อาจกระทบกับการประมูลคลื่น 1,800 เมกะเฮิรซ์ได้ และทำให้รัฐสูญรายได้ด้วย มองว่า ถือเป็นการยกข้ออ้างที่ไม่สมเหตุผล เนื่องจาก โดยหลักการแล้ว เมื่อทั้ง 2 บริษัทได้ประมูลคลื่นไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องมาประมูลเพิ่มเติมในคลื่นดังกล่าว ดังนั้น การจะทำให้เกิดผู้เล่นหลายรายได้ จะต้องปรับเงื่อนไขให้เหมาะสม เช่น การปรับลดราคาตั้งต้นให้เหมาะสมกับการประมูล ไม่ใช่นำราคาอ้างอิงเดิมมาเป็นราคาตั้งตั้นในการประมูลครั้งใหม่

นายสมเกียรติ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่หยิบยกการช่วยเหลือกับกรณีของทีวีดิจิทัลนั้น มองว่า สำหรับกรณีทีวีดิจิทัลนั้น สมเหตุผล เนื่องจากผู้ประกอบการได้เกิดปัญหาจริง และการดำเนินการ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไข แต่การช่วยเหลือนั้นจะต้องแบ่งแยกให้ชัดเจนและเหมาะสม โดยการช่วยเหลือนั้น จะต้องดูตามความเสียหายที่เกิดขึ้น

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK