Economics

เตรียมตัวให้พร้อม! แบงก์ชาติ เปิด ‘ไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์’ เริ่ม 26 ก.ย.นี้

เตรียมตัวให้พร้อม แบงก์ชาติ เปิด ‘ไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์’ ในงาน มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ เริ่ม 26 ก.ย.นี้ พร้อมสัญจรทั่วประเทศ

วันที่ 24 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุม และเป็นระบบ โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้รายย่อย ผ่านการจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้: มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน”

ไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์

คลัง แบงก์ชาติ จัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ออนไลน์สัญจรทัวประเทศ

โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันทางการเงินต่าง ๆ ตลอดจนชมรมของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวก ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดกับประชาชน

ไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์

การจัดงานดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ระยะ

  • ระยะแรก เป็นการเปิดช่องทางการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ ระหว่างลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการชำระเงินและยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ กับเจ้าหนี้ ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2565 โดยขณะนี้มีสถาบันทางการเงินตอบรับเข้าร่วมงานแล้ว 56 ราย ครอบคลุมหนี้จากสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถ จำนำทะเบียนรถ นาโนไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อที่อยู่กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ และสินเชื่อทุกประเภทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
  • ระยะที่สอง เป็นการเพิ่มโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ควบคู่กับการสร้างวินัยทางการเงิน รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนที่มีความจำเป็น สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันทางการเงินของรัฐ ซึ่งจะจัดงานมหกรรมสัญจร ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะจัดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566

โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th หรือติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทรศัพท์ 1213 หรือ E-mail : [email protected]

ไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์

3 ปัจจัย แก้หนี้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังคำนึงถึงการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนเพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท ได้แก่ รายย่อย SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา โดยแบ่งเป็น 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้

  1. การแก้หนี้เดิม ปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้สอดคล้องกับสภาพคล่องลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งปัจจุบันได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ธนาคาร (non-bank) จำนวน 3.84 ล้านบัญชี มูลค่ารวม 2.9 ล้านล้านบาท, กลุ่มลูกหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จำนวน 340,000 ราย, กลุ่มลูกหนี้ครูที่ได้เข้าร่วมโครงการสร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย จำนวนกว่า 41,000 ราย, กลุ่มลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้เข้าร่วมโครงการคลีนิกแก้หนี้ จำนวนกว่า 87,000 ราย
  2. การเติมเงินใหม่ ผ่านโครงการสินเชื่อซอฟต์โลน สินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งล่าสุดมีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วทั้งสิ้น 133,245 ราย เป็นวงเงิน 324,989 ล้านบาท รวมทั้งยังมีโครงการอื่น ๆ เช่น โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) Re-open ธุรกิจโรงแรมและ Supply Chain ของโรงแรม เป็นต้น
  3. การให้คำปรึกษาและให้ความรู้เพื่อเสริมทักษะทางการเงิน ผ่านโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน โดยปัจจุบันมีลูกหนี้ขอรับคำปรึกษาแล้วกว่า 4,500 ราย ซึ่งจะส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ทักษะการประกอบอาชีพ และความรู้ด้านดิจิทัลให้กับลูกหนี้ ขณะเดียวกัน ยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 ซึ่งมีเป้าหมายให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ มีทักษะในการบริหารจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและมีวินัยทางการเงิน

ไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์

รัฐบาลเน้นย้ำการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นระบบ ซึ่งต้องมีการแก้ไขปัญหา วางมาตรการทั้งในระยะสั้น และระยะยาวให้ครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท โดยจะแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม สร้างรายได้ผ่านการให้สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเพิ่มเติม ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกันด้านการสร้างทักษะทางการเงินให้ประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้ความรู้ ให้โอกาส สร้างความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo