Economics

ไฟเขียวต่างชาติทำธุรกิจในไทยเดือน พ.ค. 41 ราย ลงทุนกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท

“กระทรวงพาณิชย์” เผยเดือนพฤษภาคม 2565 อนุญาตให้ต่างชาติลงทุนในไทย 41 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 18,695 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 753 คน

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนพฤษภาคม 2565 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 41 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 19 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 22 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 18,695 ล้านบาท

พาณิชย์

ไฟเขียวต่างชาติทำธุรกิจในไทย

“คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 19 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และหมู่เกาะเคย์แมน ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 1,318 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 753 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน และลงทุนผ่านการขอหนังสือรับรองประกอบธุรกิจฯ จำนวน 17,377 ล้านบาท” นายสินิตย์ กล่าว

สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเดือนพฤษภาคม 2565 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อาทิ

พาณิชย์

  • บริการการชำระเงินภายใต้การกำกับในประเภทการให้บริการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
  • บริการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับองค์กรธุรกิจ (Enterprise Software) และสารสนเทศที่มีรูปแบบดิจิทัล (Digital Content)
  • บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยง เพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics รวมถึง Predictive Analytics
  • บริการรับจ้างผลิต Integrated Circuit (IC)
  • บริการขุดเจาะปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย เป็นต้น

การลงทุนในพื้นที่ EEC 

ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ในเดือนพฤษภาคม 2565 นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 12 ราย คิดเป็น 29% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมดในเดือนนี้ โดยมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 15,162 ล้านบาท คิดเป็น 81% ของเงินลงทุนทั้งหมด

พาณิชย์

ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 5 ราย ลงทุน 13,782 ล้านบาท สิงคโปร์ 3 ราย ลงทุน 348 ล้านบาท และเนเธอร์แลนด์ 1 ราย ลงทุน 700 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1. บริการรวบรวม จัดเก็บ จัดส่งและประมวลผลข้อมูล การประสานงาน รวมถึง การควบคุมการใช้งานสินค้า 2. บริการประกอบติดตั้งชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ 3. บริการรับจ้างผลิตกล้องถ่ายรูปดิจิทัล (Digital Camera) ชุดเลนส์ (Camera Lens) และชิ้นส่วนสำหรับกล้องถ่ายรูปดิจิทัล เป็นต้น

นายสินิตย์ กล่าวว่า การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญ หรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมหลุมเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการสำหรับการจัดการโปรแกรมประยุกต์ สำหรับองค์กรธุรกิจ (Multiverse Platform) และองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ในการขยายหลอดเลือด เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo