Economics

โอไมครอน-ของแพง! ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. ร่วงต่ำสุดในรอบ 6 เดือน

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2565 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีความวิตกกังวลมากเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย และปัญหาค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 42.0 ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งอยู่ที่ระดับ 43.3 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 35.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 38.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 51.1

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมี.ค.65 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 6 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีความวิตกกังวลมากเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย และปัญหาค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยถดลง และระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก” นายธนวรรธน์ กล่าว

ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้นต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใดและยาวนานเพียงใด ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวที่ระดับ 2.5-4.0% ในปีนี้

ปัจจัยลบที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประกอบด้วย

  • ประชาชนกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ
  • ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
  • ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง
  • ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 ลงเหลือ 3.2% จากเดิมคาด 3.4%, เงินบาทอ่อนค่าลงจากเดือนกุมภาพันธ์

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค

ขณะที่ปัจจัยบวกที่หนุนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ได้แก่

  • กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50%
  • ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการให้แก่ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ เช่น การยกเลิกตรวจ RT-PCR ก่อนเข้าประเทศ 72 ชม. และลดวันกักตัว เป็นต้น
  • การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของทั่วโลกในระดับที่มากขึ้น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและคลายความกังวลลง
  • การส่งออกของไทยเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 16.23% และราคาพืชผลเกษตรหลายรายการยังทรงตัวในระดับสูง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น และมีกำลังซื้อมากขึ้น

ทั้งนี้ มองว่า ยังมีสัญญาณบวกที่จะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 จากผลของการที่ ศบค. ได้ผ่อนคลายมาตรการให้แก่ผู้เดินทางเข้าประเทศที่เริ่มมีผลแล้วตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 ในการยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง 72 ชม. รวมทั้งลดวันกักตัว ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นแรงหนุนต่อเศรษฐกิจไทยได้

นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง การส่งออกไทยยังสามารถเติบโตได้ดีจากเงินบาทที่อ่อนค่า แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว และการระบาดของโอมิครอน ที่แม้ในประเทศจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูง แต่ไม่ได้กระทบกับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งระดับราคาน้ำมันที่เริ่มลดลง หลังจากสหรัฐและสหภาพยุโรปเริ่มปล่อยน้ำมันสำรองออกสู่ตลาด ซึ่งจากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น และเริ่มกล้าที่จะออกมาจับจ่ายใช้สอย

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 5 ซึ่งหากเริ่มได้ในช่วงเดือนมิถุนายนก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยพร้อมที่จะฟื้นตัวได้ในช่วงปลายไตรมาส 2

ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 65 ไว้ว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 2.5-4% โดยมองว่ามีโอกาสสูงที่จะขยายตัวได้มากกว่าระดับ 3%

ส่วนความกังวลของหลายฝ่ายว่าจะมียอดผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มมากขึ้น หลังจากเทศกาลสงกรานต์นั้น นายธนวรรธน์ มองว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดต่อวันจะมากหรือน้อย ไม่สำคัญเท่ากับว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งจะเห็นว่าการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในรอบนี้ ประชาชนและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ ซึ่งแตกต่างจากการระบาดในช่วงปี 2563 และ 2564 ประกอบกับขณะนี้ประชาชนในประเทศส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดเข็มกระตุ้นแล้ว อีกทั้งมีการเตรียมพร้อมระบบสาธารณสุขเพื่อให้โรคโควิด-19 ให้เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ดังนั้น การที่มีผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนมาก อาจไม่เป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ตราบใดที่ไม่มีการล็อกดาวน์ หรือมีการเข้มงวดเรื่องการเดินทางเข้าประเทศ

“หากรัฐบาลสามารถร่นระยะเวลาการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นได้เร็วขึ้นจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ในเดือนก.ค. มาเป็น มิ.ย. ก็จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อย่างน้อยก็ช่วยเพิ่มขึ้นได้ 0.1 – 0.2% ในช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่หากไม่ทำให้โควิด-19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ก็อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้หายไป 0.5% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7 หมื่นล้านบาท – 1 แสนล้านบาท” นายธนวรรธน์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo