Economics

‘IRPC’ กางแผน 5 ปี ปรับธุรกิจสู่ ‘องค์กรแห่งนวัตกรรม’ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี-เกิดประโยชน์กับประเทศ

IRPC เปิดแผนธุรกิจ 5 ปี ต่อยอดธุรกิจปัจจุบันสู่ธุรกิจ “Beyond Petrochemical & Refinery” สร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมรุกธุรกิจใหม่สู่ New S-Curve ตั้งเป้า EBITDA มากกว่า 20,000 ล้านบาท ภายในปี 2568 มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรม ใช้องค์ความรู้ด้านวัสดุและพลังงาน ตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบในอนาคต ควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อม เตรียมพร้อมสู่องค์กร Net Zero Emission 

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ในปี 2564 IRPC ได้ประกาศปรับวิสัยทัศน์สู่การเป็นองค์กร สร้างสรรค์นวัตกรรม การใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิต ที่ลงตัว (To Shape Material and Energy Solutions in Harmony with Life)  เป็นองค์กร ที่มากกว่าการเป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมี และการกลั่นน้ำมัน สอดรับกับทิศทางของโลกในอนาคต

เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทุกรูปแบบ สร้างความยั่งยืน และเกิดประโยชน์กับประเทศ โดยตั้งเป้าหมาย EBITDA มากกว่า 20,000 ล้านบาท ภายในปี 2568  ด้วยการต่อยอดความแข็งแกร่งในธุรกิจปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่ และเตรียมความพร้อมสู่ ธุรกิจพลังงานสะอาดมากขึ้น และวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ลง 20% ในปี 2573

IRPC

สำหรับแผนธุรกิจ 5 ปี (2565-2569) IRPC ได้กำหนดกลยุทธ์ และทิศทางการดำเนินธุรกิจ ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็ง จากภายใน ด้วยการพัฒนา และขยายธุรกิจที่มีความชำนาญ ไปยังห่วงโซ่คุณค่าใกล้เคียงของธุรกิจ และการแสวงหาธุรกิจใหม่ ๆ ได้แก่ การต่อยอดการเติบโตจากกลุ่มธุรกิจในปัจจุบัน (Core Uplift), การลงทุนในกลุ่มธุรกิจข้างเคียง (Adjacent Business) และการสร้างธุรกิจใหม่ (Step Out Business)

  • การต่อยอดการเติบโตจากกลุ่มธุรกิจในปัจจุบัน 

โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐาน ยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project: UCF) มูลค่า 13,300 ล้านบาท ตามนโยบายของภาครัฐ และจากแนวโน้มความต้องการ ที่สูงขึ้นของน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ ทั้งภายในประเทศ และภูมิภาคอาเซียน เพื่อลดปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5

โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567 ตลอดจนการพัฒนา และการเพิ่มสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติก ชนิดพิเศษ (Specialty) จาก 20% ในปี 2564  เป็น 52% ในปี 2568 โดยบูรณาการกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มความเร็วในการเข้าตลาดและการตอบสนองต่อลูกค้า

  • การลงทุนในกลุ่มธุรกิจข้างเคียง

โครงการผลิตเม็ดพลาสติก พีพี เกรด เมลต์โบลน (PP Melt blown) และการร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด เพื่อผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญ สำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ

โดยตั้งเป้าหมายจะเป็นผู้ผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอครบวงจรรายแรกของประเทศไทย ที่พร้อมผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2564 และ IRPC ยังได้ร่วมมือกับ ปตท. ในการศึกษาการผลิตถุงมือทางการแพทย์ โดยใช้ Nitrile Butadiene Latex (NBL) เป็นวัตถุดิบ ช่วยลดการนำเข้า จากต่างประเทศ และยกระดับด้านสาธารณสุข วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศไทย

IRPC
ชวลิต ทิพพาวนิช

สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาธุรกิจ New S-Curve กลุ่ม Life Science ของกลุ่ม ปตท. รวมถึงการจัดตั้ง วชิรแล็บ ห้องปฏิบัติการกลาง เพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยร่วมกับ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่พร้อมเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Medical Hub ของอาเซียน

  • การสร้างธุรกิจใหม่

การบ่มเพาะนวัตกรรมจากภายใน (Inside-out Innovation) หรือการทำ Corporate Startup เช่น การสร้างนวัตกรรมทางการเกษตร ซิงค์ออกไซด์นาโน (ZnO NANO) ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก ซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ที่ทำให้มีขนาดเล็กระดับอนุภาคนาโน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุอาหารเข้าสู่ส่วนต่าง ๆ ของพืชได้ดียิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร และปลอดภัยต่อทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม

การแสวงหานวัตกรรม จากภายนอก (Outside-in Innovation) ผ่านการลงทุนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) และการลงทุนในธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อแสวงหาสตาร์ทอัพ  หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ ผ่านการทำ M&A ที่นอกจากจะได้รับผลตอบแทนทางการเงินแล้ว บริษัทยังได้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ การดำเนินธุรกิจ New S-Curve อีกด้วย

นอกจากนี้ IRPC มีความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสู่องค์กร Net Zero Emission โดยวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ลง 20% ในปี 2573 โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพจากการใช้พลังงานแห่งอนาคต

IRPC

รวมทั้ง พลังงานทางเลือก และ พลังงานหมุนเวียน เช่น การขยายโครงการ Floating Solar และโครงการ Solar Farm ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จังหวัดระยอง การพัฒนาวัสดุเคลือบแผง Solar Cell ลดความร้อน และส่วนประกอบอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรองให้รถยนต์ไฟฟ้า

การปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุค New Normal ที่ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม จะเป็นการช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ IRPC สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน IRPC สร้างสิ่งที่ดีเพื่ออนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo