Economics

สานพลัง ‘รัฐ-เอกชน’ สร้างเสถียรภาพ ‘ราคาไข่ไก่’ พยุงเกษตรกร

ปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ กำลังสร้างผลกระทบอย่างหนัก ให้กับเกษตรกรคนเลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะรายย่อย รายกลาง รายใหญ่ จาก ราคาไข่ไก่ คละหน้าฟาร์มเกษตรกร ที่ 2.50 บาทต่อฟอง แต่ต้นทุนการผลิต ในไตรมาสที่ 1/2564 (มกราคม-มีนาคม) เฉลี่ยสูงขึ้นมาฟองละ 2.66 บาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เกษตรกรต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมมากว่า 3 เดือน นับจากธันวาคม 2563 ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลโดยตรงต่อภาวะการบริโภคที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากค่าครองชีพที่สูงขึ้น กำลังซื้อต่ำลง

ราคาไข่ไก่

ขณะเดียวกันห้างร้านต่าง ๆ ร้านอาหาร และตลาดบางแห่งต้องปิดทำการ การท่องเที่ยวหยุดชะงัก หลายพื้นที่ต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของโควิด จนต้องประกาศหยุดการเรียนการสอน รวมทั้งผู้ประกอบการ และบริษัทบางส่วน ให้พนักงานทำงาน Work From Home เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้เกิดในวงกว้าง ส่งผลให้การบริโภคไข่ไก่ ซึ่งเป็นส่วนประกอบในอาหาร สำหรับนักเรียน และคนทำงานลดลง ปริมาณไข่ไก่สะสมจึงเพิ่มขึ้น

แต่ต้นทุนการผลิตกลับสูงขึ้น มีปัจจัยหลักมาจากการเฝ้าระวัง และควบคุมโรค ทั้งโรคในสัตว์ปีกสำคัญอย่างไข้หวัดนก ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศโดยรอบไทย  รวมถึง การป้องกันโควิดในบุคลากรอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้าวโพดอาหารสัตว์ กากถั่วเหลือง มันสำปะหลัง และปลายข้าว ที่ต่างพากันขึ้นราคาทั้งกระดาน กลายเป็นปัจจัยเติมทุกข์ให้กับเกษตรกร

คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่ และผลิตภัณฑ์ หรือ เอ้กบอร์ด (Egg Board) มองเห็นปัญหานี้ จึงเร่งประชุมหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กระทั่งได้ข้อสรุปของแนวทางแก้ไขปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด และราคาตกต่ำ โดยการผลักดันการส่งออก ตามข้อเสนอของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่  โดยมอบหมายให้กรมปศุสัตว์ ในฐานะเลขานุการเอ้กบอร์ด แจ้งมติต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการเสนอขอใช้เงินกองทุนรวม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตามระเบียบกองทุนรวมโดยด่วน เพื่อช่วยเหลือพยุงเกษตรกร ไม่ให้ได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้

นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ บอกว่า ราคาไข่ไก่ คละหน้าฟาร์มเกษตรกร ในปัจจุบัน อยู่ที่ฟองละ 2.50-2.60 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยพุ่งไปถึง 2.69 บาทต่อฟองแล้ว

ที่ผ่านมาเกษตรกรทั่วประเทศ ต่างพยายามแก้ปัญหาร่วมกัน ด้วยการวางแผนการผลิตอย่างรอบคอบ มีการปลดแม่ไก่ยืนกรง เพื่อรักษาสมดุลปริมาณกับการบริโภค

ราคาไข่ไก่

อย่างไรก็ตาม ระดับ ราคาไข่ไก่ จะเป็นไปตามกลไกตลาดเสมอ โดยการผลิตไข่ไก่ของไทย เป็นการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคในประเทศ มีผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย หรือรวมตัวกันในรูปแบบชมรม และสหกรณ์

ส่วนการส่งออกไข่ไก่จะเกิดขึ้นเมื่อจำเป็นต้องระบายผลผลิตส่วนเกิน ให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภค เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศ โดยผู้ส่งออกไข่ไก่ของไทยต้องยอม “ส่งออกไข่ในราคาขาดทุน” เพื่อให้สามารถแข่งขันกับจีนและสหรัฐ จึงไม่มีใครอยากส่งออกไข่ เพราะไม่ใช่การสร้างกำไร แต่เป็นการเสียสละเพื่อเกษตรกร และคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน

สำหรับภาคเอกชน ที่ออกมาขานรับมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ด้วยการสนับสนุนมติเอ้กบอร์ดในมาตรการเร่งผลักดันไข่ส่วนเกินภายในประเทศ จำนวน 100 ล้านฟอง ด้วยการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นการกระทำโดยสมัครใจ ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับจากเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2564 โดยใช้งบประมาณจากกองทุนรวม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร มาสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ จำนวน 50 ล้านบาท และให้เกษตรกรสมทบอีก 100 ล้านฟอง รวมเป็น 200 ล้านฟอง

ราคาไข่ไก่

เรื่องนี้ นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ บอกว่า ซีพีเอฟในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมไข่ไก่ ยินดีให้ความร่วมมือ และพร้อมสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้อย่างเต็มที่ โดยการผลักดันการส่งออกในเฟสแรกรวม 60 ล้านฟอง (จำนวน 185 ตู้) ซีพีเอฟจะดำเนินการส่งออก 16 ล้านฟอง (จำนวน 50 ตู้) แม้ว่าในการส่งออกจะต้องขาดทุนถึงฟองละ 40-50 สตางค์ ก็ตาม แต่บริษัทก็ยินดี เพื่อสร้างสมดุลระหว่างปริมาณการผลิต ให้สอดคล้องกับการบริโภคของประชาชน ช่วยให้เกิดเสถียรภาพราคาไข่ไก่ทั้งอุตสาหกรรม

นับเป็นอีกครั้งที่ ภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชน ผนึกกำลังในการสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ช่วยเกษตรกรทั่วประเทศที่กำลังประสบปัญหาขาดทุน อย่างน้อยเพื่อให้พวกเขามีรายได้ที่ดีขึ้น สามารถต่อยอดอาชีพเดียวที่มี ไม่ให้ล้มหายตายจาก ให้พวกเขาได้ก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo