Economics

ปตท.ยกระดับสู่ ‘Global LNG Portfolio’

คุณวิรัตน์ 3

การบุกธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์  “Pride and Treasure of Thailand” ของปตท. ที่ได้ถูกวางแผนรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว  เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาดภายในประเทศ ภูมิภาค และของโลก

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ผู้กุมบังเหียนธุรกิจก๊าซธรรมชาติของปตท.ในวันนี้ ให้เหตุผลที่ปตท.ต้องบุกธุรกิจนี้อย่างเต็มที่นับจากนี้ว่า เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยใหญ่ ที่ทำให้ทั่วโลกหันเหมาที่แอลเอ็นจี ประกอบกับมีกำลังการผลิตมากขึ้นในหลายประเทศ และหากคำนวณต้นทุนรวมทั้งหมด บวกด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย แอลเอ็นจีเป็นพลังงานที่มีศักยภาพ

นำเข้าแอลเอ็นจีรับก๊าซฯ อ่าวไทยลด

ปตท.จึงวางแผนอย่างครอบคลุมตั้งแต่ระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อเดินหน้าธุรกิจแอลเอ็นจี  สำหรับระยะสั้นจะนำแอลเอ็นจีเข้ามา รองรับก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่ผลิตได้น้อยลง จึงต้องมีแอลเอ็นจีเข้ามาแทนที่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่กำลังผลิตจากแหล่งสำคัญอย่างเอราวัณ และบงกช เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด และการประมูลเพื่อหาผู้ดำเนินการรอบใหม่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้น ทั้งที่ควรจะต้องดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว

“สิ่งที่ต้องลุ้นกันมาก ก็คือ Black Swan หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดจะเกิดขึ้น ในช่วง 2 ปีสำคัญ ซึ่งเป็นช่วงที่แหล่งเอราวัณหมดอายุสัมปทานในปี 2565 ส่วนแหล่งบงกช หมดอายุสัมปทานในปี  2566 ช่วงรอยต่อที่จะมีรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทนที่อาจทำให้การป้อนก๊าซจากทั้งสองแหล่งสะดุด เพราะทั้งสองแหล่งป้อนก๊าซฯให้กับระบบถึง 74%”

เอราวัณ ๑๘๐๙๒๕ 0004
แหล่งเอราวัณ

ขณะเดียวกันกำลังผลิตก๊าซฯ จากทั้งสองแหล่งในระยะยาวก็ผลิตลดลงด้วย เพราะสัมปทานรอบใหม่กำหนดปริมาณการผลิตขั้นต่ำสำหรับแหล่งเอราวัณ 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวันต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี ขณะที่แหล่งบงกช กำหนดการผลิตขั้นต่ำที่ 700 ล้านลบ.ฟุตต่อวันต่อเนื่อง 10 ปีเช่นเดียวกัน จากปัจจุบันทั้งสองแหล่งผลิตได้รวม 2,100 ล้านลบ.ฟุตต่อวันเท่ากับกำลังผลิตหายไป 600 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน

นอกจากนี้ก๊าซฯ จากเมียนมาที่ไทยนำเข้ามาใช้ก็เริ่มลดลงเช่นเดียวกัน เพราะทางเมียนมาเองก็ต้องการเก็บก๊าซฯ ไว้ใช้ เพื่อพัฒนาประเทศมากกว่าส่งออก ปัจจัยทั้งหมดนี้คือภารกิจของปตท.ที่ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมารองรับให้ทันท่วงที และมีปริมาณเพียงพอ

ปัจจุบันได้วางแผนการลงทุนรองรับแล้ว มีโครงการลงทุนหลัก คือ สถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) เพื่อรองรับแอลเอ็นจีนำเข้ารวม 19 ล้านตัน ที่มาบตาพุด 10 ล้านตันต่อปี กำลังขยายเป็น 11.5 ล้านตันต่อปี และกำลังเพิ่มอีก 1 จุดที่หนองแฟบ จังหวัดระยองเช่นเดียวกัน อีก 7.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งทั้งหมดพร้อมรับแอลเอ็นจีนำเข้า 19 ล้านตันใน 4 ปีข้างหน้าพอดีกับช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งปิโตรเลียมหลักทั้งสองแหล่งหลังหมดอายุสัมปทานปี 2565 และ 2566

ระยะกลางหาแหล่งผลิตใหม่-ทำเทรดดิ้ง

ส่วนระยะกลาง แผนการที่สำคัญ เป็นการดำเนินงานรองรับเปิดเสรีกิจการก๊าซฯในประเทศ การบุกไปขยายตลาดต่างประเทศ รวมถึงการหาแหล่งผลิตแอลเอ็นจีใหม่ๆ  โครงการสำคัญของปตท.ที่นายวิรัตน์ เอยถึงบ่อยๆ ก็คือ โมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่งเป็นแหล่งแอลเอ็นจีขนาดใหญ่ของโลก ที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ให้บริษัท พีทีทีอีพี โมซัมบิก แอเรีย 1 จำกัด บริษัทในเครือเข้าไปร่วมทุน เพื่อให้มีสัดส่วนการผลิตในแหล่งสำคัญนี้ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision) ภายในปี 2561

ทางด้านการค้าแอลเอ็นจี (เทรดดิ้ง) ปตท.จะอาศัยจังหวะเข้าไปทำ Long Term Gas Purchase หรือทำสัญญาระยะยาวให้มากขึ้น เพราะช่วง 5-7 ปีนี้กำลังผลิตของโลกเกินความต้องการ  ทำให้ตลาดเป็นของผู้ซื้อ หลังจากนั้นผ่านช่วงนี้ไปตลาดจะเปลี่ยนกลับไปเป็นของผู้ขายอีกครั้งเหมือนช่วงปี 2554-2557 ที่ทำให้ราคาแอลเอ็นจีนำเข้าตลาดญี่ปุ่นขึ้นไปถึง 12 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

บงกช
แหล่งบงกช

PTTLNG

วางไทยเป็นฮับแอลเอ็นจีระดับโลก

อีกแผนงานสำคัญ นายวิรัตน์ ให้มองแผนที่ประเทศไทยที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และการที่ไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศ  ขณะที่ข้างบ้านและรอบๆต้องการใช้แอลเอ็นจีเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ และต่างต้องการให้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ผู้นำเข้าในภูมิภาคนี้จึงขยายวงกว้างออกไป จากเดิมเป็นญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ขยายเป็นจีน อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน

เมื่อบริบทพร้อม และไทยก็ทำตลาดแอลเอ็นจีมานานกว่า 10 ปีแล้ว การเป็นศูนย์กลางค้าแอลเอ็นจีของไทย หรือฮับแอลเอ็นจีในภูมิภาคทำได้ไม่ยากแน่นอน และเชื่อว่าจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ภายใน 5-10 ปี

ส่วนในระยะยาว นายวิรัตน์ ระบุว่า ปตท.ปักธงเป็น  “Global LNG Portfolio”  เปลี่ยนจากอดีตนำเข้าเพื่อใช้ในประเทศตามความต้องการ แต่อนาคตจะซื้อมาทำเทรดดิ้งให้มากขึ้น เพื่อบริหารจัดการ Portfolio ของปตท.

ปัจจุบัน ปตท.เข้าไปตั้งสำนักงานเทรดดิ้งแอลเอ็นจีในหลายที่แล้ว ทั้งลอนดอน ดูไบ สิงคโปร์ ซึ่งสามารถใช้โครงข่ายนี้ในการค้าแอลเอ็นจีให้ขยายวงออกไปทั่วโลกอย่างครอบคลุม

สำหรับตลาดที่ปตท.ให้ความสำคัญในตอนนี้เป็นตลาดเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ซึ่งกลุ่มปตท.เข้าไปลงทุนทั้งโรงไฟฟ้า สายส่ง รวมถึง คลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ หรือ FSRU (Floating Storage Regisification Unit) และกำลังเข้าไปลงทุนที่ เวียดนาม และกัมพูชา เพิ่มเติมให้สอดรับกับกลยุทธ์ Gas to Power Value Chain

ptt rdfn

กระจายแหล่งบริหารความเสี่ยง

บริหารต้นทุน และบริหารความเสี่ยงถือเป็นหัวใจของแอลเอ็นจี นายวิรัตน์ บอกว่า ต่อไปเมื่อปตท.เป็นผู้เล่นแอลเอ็นจีอย่างเต็มตัว และมีความต้องการในมือเพียงพอ สิ่งที่ต้องทำก็คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงและราคาด้วยการกระจายแหล่งซื้อ

วันนี้ ปตท.ก็เริ่มซื้อทั้งตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย และอัฟริกา แหล่งโมซัมบิกก็จะเข้ามาเป็นแหล่งสำรองแอลเอ็นจีให้อีกแหล่งในอนาคต และกำลังมองแหล่งอื่นๆเพิ่มเติม เช่น สหรัฐ

นอกจากกระจายแหล่งแล้ว ยังช่วยกระจายราคาด้วย เพราะสูตรราคาขายแอลเอ็นจีแตกต่างกันไป  การซื้อจากสหรัฐอ้างอิงราคาตลาดก๊าซธรรมชาติเหลวในสหรัฐ ขณะที่การซื้อขายในกลุ่มประเทศในเอเซียแปซิฟิก ทำสัญญาซื้อขาย ด้วยสูตรราคาแอลเอ็นจีของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศนำเข้าแอลเอ็นจีรายใหญ่ที่สุดของโลก  โดยอิงกับราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น  (Japanese Crude Cocktail : JCC )

“ประเทศไทยมีพื้นที่ติดประเทศเพื่อนบ้าน และเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เราเป็นกลางเพียงพอ  เป็นมิตรกับทุกประเทศ และความต้องการแอลเอ็นจีในไทยเอง ก็ทำให้เราเป็นผู้จัดหาแอลเอ็นจีหลักระดับหนึ่งอยู่แล้ว 10 ปีที่ผ่านมาทำให้การเป็นฮับแอลเอ็นจีในภูมิภาคไม่ใช่เรื่องไกลตัว”

เขามองเทียบสิงคโปร์ว่า ไทยไม่เสียเปรียบ และไม่เกินเอื้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าแอลเอ็นจี  แต่ต้องทำงานหนัก และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จึงจะทำให้เป้าหมายนี้เป็นจริง และแน่นอนว่าประเทศจะได้ประโยชน์ เพราะเทรนด์แอลเอ็นจีไปได้อีกไกล

Vessel FSRU Excelerate FSRU Brazil 21

ตั้งกองเรือขนส่งแอลเอ็นจี

สำหรับวิธีการบริหารจัดการแอลเอ็นจีของปตท. นายวิรัตน์ วาดภาพให้ฟังว่า ปตท.สร้างสถานีรับจ่ายแอลเอ็นจี  รวม 19 ล้านตันต่อปี สามารถนำเข้าด้วยเรือใหญ่ และลงเรือเล็กกระจายต่อในภูมิภาคนี้  ซึ่งคิดว่าจะต้องมีกองเรือของตัวเองมารองรับ รวมถึงการขนสงแอลเอ็นจีด้วยบรรทุกจากไทยต่อไปยังเพื่อนบ้านใกล้เคียง ที่กำลังมีความต้องการแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น

“อาจไม่ต้องเป็นกองเรือใหญ่ เพราะเรือแอลเอ็นจีแต่ละลำต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 2,000 ล้านบาท แต่ก็ต้องมีเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ซึ่งเรากำลังคิดถึงขนาดที่เหมาะสม”

สำหรับการเปิดเสรีกิจการแอลเอ็นจีที่ไทยกำลังเริ่มต้นนั้น นายวิรัตน์ อธิบายว่า บริษัทเชื่อในกลไกตลาดแข่งขันเสรี  เหมือนน้ำมันที่ปตท.เคยมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 5-10% ท่ามกลางผู้ค้าน้ำมันระดับโลก จนถึงตอนนี้การแข่งขันก็ยังคงมีอยู่

birdeyeofPTTLNG 257 20170620 102504

กิจการก๊าซฯก็เช่นเดียวกัน ไม่มีกฎหมายห้ามใครมาลงทุน แต่เป็นกิจการที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ ที่จะมีผู้เล่นน้อยรายเหมือนประเทศอื่นๆ โดยมีองค์กรรัฐ หรือกึ่งรัฐมาเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง และคืนทุนนานถึง 40-45 ปี และให้มาใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อความคุ้มค่า ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของ

“คนที่มีเงินลงทุนก็คงไม่ทำ เพราะการวางโครงสร้างพื้นฐานต้องใช้เวลาคืนทุนนาน สู้เอาเงินไปลงทุนกิจการอื่นดีกว่า ที่ผ่านมาจึงมีแต่ปตท.เจ้าเดียวที่ลงทุน อย่างไรก็ตามธุรกิจนี้ ไม่ใช่ธุรกิจที่ใครๆ ก็ทำได้ ไม่ใช่เปิดเสรีแล้ว ทุกคนควรจะทำเหมือนตั้งภัตตาคาร เราไม่ได้ทำทุกอย่างเอง แต่ทำตามความถนัด ความจริงแล้วไม่แนะนำให้กฟผ.เป็นหัวหอกนำเข้า เพราะความเชี่ยวชาญของเขา คือ ไฟฟ้า สายส่ง”

ปัจจุบันกิจการก๊าซฯ อยู่ในการดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งวางกลไกการเปิดเสรีไว้แล้ว มีกติกาการเปิดเสรีการให้บริการแก่บุคคลที่สาม หรือ Third Party Access (TPA) ทั้งท่อ ท่า และคลังแอลเอ็นจี ถือว่าทุกอย่างพร้อม

หากเอกชน หรือแม้แต่กฟผ.เองมาเข้าเป็นผู้ค้าส่ง (shipper)  โดยใช้โครงสร้างพื้นฐาน ที่ปตท.ลงทุน ก็ยินดี  เพราะเชื่อในกลไกการแข่งขันเสรี ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่าทำเพียงคนเดียว และมั่นใจว่าการเปิดเสรีนำเข้าแอลเอ็นจีสามารถทำให้ต้นทุนลดลงได้ หากรู้จังหวะของการซื้อให้ถูกช่วงเวลา และบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ

PTTEP natural gas production platform in Myanmar

แอลเอ็นจีตลาดโลกเติบโตเหตุพลังงานสะอาด

สำหรับตลาดแอลเอ็นจีในอนาคตนั้น เขา ประเมินว่า เติบโตอย่างต่อเนื่องแน่นอน ปัจจุบันในประเทศก็เติบโตราวปีละ 3%  เพราะเป็นฟอสซิลฟิลที่สะอาด และยืดหยุ่น เอาไปใช้ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี และภาคขนส่ง

แม้เทรนด์โลกต้องไปที่พลังงานหมุนเวียน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องขนาด และต้องมีระบบ Energy Storage รองรับ รวมถึงต้องใช้พื้นที่เยอะ  ตลาดพลังงานจึงจะเป็นตลาดของแอลเอ็นจีไปอีกนาน โดยไม่คิดว่าแอลเอ็นจีจะถูก disrupt ในช่วงอายุของเขา

“ถ่านหินผ่านจุดรุ่งเรืองไปแล้ว ส่วนน้ำมันจะถึงจุดพีคในอีก 7 ปี หรือ ปี 2568  จากนั้นความต้องการน้ำมันอาจไม่เพิ่ม แต่จะค่อยๆลดลง  แต่ก๊าซฯจะไปต่ออาจแทนที่ถ่านหิน และน้ำมันด้วยซ้ำไป จึงเหตุผลให้เราให้ความสำคัญกับธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซียลดลง ขณะที่น้ำมันเราจะเน้นต่อยอดเป็นวัตถุดิบให้กับปิโตรเคมีมากกว่า และมาให้ความสำคัญกับธุรกิจก๊าซเพิ่มขึ้น”  

นายวิรัตน์ ย้ำว่า นอกจากการเป็นพลังงานสะอาดแล้ว การผลิตก็กระจายออกไปทั่วโลก จึงไม่มีคนผลิตรายใดรายหนึ่งจะสามารถเป็นผู้กำหนดราคาได้ต่างจากน้ำมัน และการที่หลายประเทศผลิตได้เพิ่มขึ้นถือว่าแอลเอ็นจีมีความมั่นคงสูง

ในปี 2560 มีผู้ส่งออกแอลเอ็นจีถึง 19 ประเทศ กำลังผลิต 345 ล้านตันต่อปี  และแต่ละประเทศต่างกำลังเพิ่มกำลังผลิต เช่น ตะวันออกกลางกำลังเพิ่มกำลังผลิตจาก 70 ล้านตันเป็น 100 ล้านตันต่อปีในอีกไม่กี่ปี และมีอีกหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐ รวมถึงรัสเซีย ที่จะเพิ่มกำลังผลิตแอลเอ็นจีเป็น 57 ล้านต้นต่อปีในอีกไม่กี่ปีเช่นเดียวกัน เพราะการที่น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้รัสเซียสามารถผลิตและส่งแอลเอ็นจีมาขายได้มากขึ้น

1028854607

ขณะเดียวตลาดแอลเอ็นจีก็ขยับขยาย มีการใช้ในภาคส่วนต่างๆ นอกแนวท่อมากขึ้น เช่น รถไฟ รถบรรทุก  แม้แต่ในเรือ ซึ่งปัจจุบันมีกฎการเดินเรือที่กำหนดห้ามเรือใช้น้ำมันที่มีซัลเฟอร์สูง ทำให้มีการปรับมาใช้แอลเอ็นจีมากขึ้น

lng1

ปีที่ผ่านมามีการค้าขายแอลเอ็นจีทั่วโลกถึง 293 ล้านตัน ผู้ส่งออก 3 อันดับแรก คือ การ์ตา 28% รองลงมาเป็น ออสเตรเลีย 19% และมาเลเซีย 9% ขณะที่ผู้นำเข้า คือ ญี่ปุ่น 29% จีน 14% และ เกาหลีใต้ 13%

สำหรับประเทศไทย เป็นประเทศนำเข้าอันดับท้ายๆ ประมาณ 1% ของโลก คาดว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) ฉบับที่ใช้ในปัจจุบันมีแผนที่จะต้องใช้มากกว่า 30 ล้านตันต่อปี

lng2

นายวิรัตน์ ระบุว่า การใช้แอลเอ็นจีของไทยในอนาคตยังคงใช้ในโรงไฟฟ้าเป็นหลัก ที่เหลือเป็นภาคอุตสาหกรรม และขนส่ง โดยคำนึงถึงการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะต้องนำเข้า ปตท.จึงมีโครงการต่างๆ ที่นำความเย็นเหลือทิ้งจากการปรับสภาพแอลเอ็นจีนำเข้าจากของเหลวมาเป็นก๊าซฯ เช่น ผลิตแก๊สอุตสาหกรรม ออกซิเจน ไนโตรเจน หรือใช้เพิ่มประสิทธิภาพในโรงไฟฟ้า ทำห้องแช่แข็งผลไม้ อาทิ ทุเรียน เงาะ  รวมถึงนำมาปลูกพืชผลไม้เมืองหนาว

โครงการต่างๆ เหล่านี้มีทั้งปตท.ทำเอง ร่วมกับหน่วยงานรัฐ และเอกชน เป็นประเทศเดียวในโลกที่เอาความเย็นเหลือทิ้งมาทำประโยชน์อย่างหลากหลาย  ซึ่งปตท.วางโรดแมพไว้แล้ว

เรื่องราวของแอลเอ็นจีที่ปตท.จะปักธงเป็นธุรกิจนำในอนาคต ทั้งโหมการลงทุนสำรวจและผลิต ให้มีกำลังผลิตในมือเพียงพอ และ ทำสัญญาระยะยาว เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง รวมถึงเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการด้านเทรดดิ้ง หัวใจการค้าแอลเอ็นจี และการวางกลยุทธ์แข่งขันทางการค้า ทั้งหมดเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางค้าแอลเอ็นจีให้ได้ภายใน 5-10 ปี

Avatar photo