Economics

มอง ‘แบงก์ชาติ’ ขยายเวลาช่วยเหลือลูกหนี้ ช่วยต่อลมหายใจสู้โควิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอง “แบงก์ชาติ” ขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ รับการระบาดของ “โควิด” ระลอกใหม่ เชื่อจะช่วยต่อลมหายใจ ประคองธุรกิจ ชะลอภาวะวิกฤติทางการเงิน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงการที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ออกไป โดยมองว่า การระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ที่ลากยาวข้ามมาในปี 2564 ส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่กำลังรอเวลาฟื้นตัว กลับต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวซ้ำเติมปัญหาความเปราะบางทางการเงิน การขาดสภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้หลายกลุ่ม

ล่าสุด ธปท. ได้ขยายระยะเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือจนถึงเดือน มิถุนายน 2564 และให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภทตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ทั้งนี้ แม้การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 จะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี คาดว่า การขยายเวลาการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินออกไป โดยเลื่อนเวลาการชำระเงินหนี้ ยืดอายุหนี้ให้มีระยะเวลายาวขึ้น

รวมถึงการให้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนและสภาพคล่องเพิ่มเติม น่าจะช่วยชะลอแรงกดดันจากการชำระคืนสินเชื่อลงบางส่วน ซึ่งจะมีผลทำให้ภาพรวมสินเชื่อในปีนี้อาจไม่ชะลอตัวลงมากแม้ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น

โดยในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ น่าจะสามารถประคองอัตราการเติบโตในกรอบประมาณ 3.0 – 4.5% ในปี 2564 ขณะที่การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้การผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของ ธปท. ที่จะมีผลถึงสิ้นปี และการเร่งจัดการหนี้เสียในเชิงรุกก็น่าจะช่วยชะลอหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ทำให้สัดส่วน NPLs ทยอยขยับขึ้นอยู่ที่ระดับประมาณ 3.53% ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2564

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จุดจับตาสำคัญหลังจากนี้ ก็คือ การติดตามจำนวนลูกหนี้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือรอบใหม่ ที่อาจจะกลับมาเพิ่มขึ้นตามแรงกระทบต่อเศรษฐกิจ จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะ ในช่วงระหว่างไตรมาส 1/2564 และไตรมาสที่ 2/2564

โดยข้อมูลความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนนี้ นอกจากจะเป็นเครื่องชี้ระดับแรงกดดันที่มีต่อปัญหาคุณภาพหนี้ในพอร์ตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มกลับมานิ่งขึ้นอีกครั้ง (Post COVID-19) แล้ว ยังมีผลกระทบต่อเนื่องมายังแนวทางการตั้งสำรองเพื่อรองรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การขยายเวลา สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยรอบนี้ เป็นการดำเนินการในเบื้องต้น เนื่องจากแนวทางเกือบทั้งหมด เป็นการต่ออายุของมาตรการฯ รายย่อยระยะที่ 2 ซึ่งเน้นไปที่การเร่งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ให้กับลูกหนี้รายย่อยและการช่วยลดภาระทางการเงิน แต่แม้ว่าแนวทางดังกล่าว จะยังไม่ครอบคลุมไปถึงมาตรการเฉพาะสำหรับภาคธุรกิจที่กำลังเผชิญแรงกดดันจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในขณะนี้

แต่คาดว่า สถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะยังคงติดตามดูแลและให้ความช่วยเหลือสำหรับกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการในแต่ละภาคธุรกิจ/พื้นที่ของสถานประกอบการอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยในส่วนของภาคธุรกิจนั้น ต้องการความช่วยเหลือทั้งในเรื่องของการเพิ่มสภาพคล่องและการเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระทางการเงิน และเพื่อช่วยต่อลมหายใจให้กับลูกหนี้ให้สามารถประคองกิจการ และรักษาระดับการจ้างงาน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะวนกลับมาเป็นปัญหาซ้ำเติมเศรษฐกิจในระยะถัด ๆ ไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ธปท. จึงขอให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (ผู้ให้บริการทางการเงิน) เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ขยายเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 (จากเดิมที่ครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563) โดยลูกหนี้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง หรือนายจ้าง หรือเจ้าของกิจการ สมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้ เช่น ในกรณีสินเชื่อสวัสดิการ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อให้การขอรับความช่วยเหลือของลูกหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์

2. ให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท (ลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่) ตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ จำแนกตามลักษณะธุรกิจและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีแนวทางต่าง ๆ ดังนี้

  • ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด เป็นต้น
  • ให้เงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม
  • พิจารณาชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. soft loan
  • ผ่อนปรนเงื่อนไขอื่นตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ ตัวเลขข้อมูลช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ล่าสุด ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 มีลูกค้าได้รับความช่วยเหลือ 5.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 11 ล้านบัญชี ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายย่อยของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) จำนวน 3.22 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10 ล้านราย

“ธปท.อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดถึงตัวเลขผลกระทบของลูกหนี้ และการช่วยเหลือของธนาคารว่าเป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ ซึ่งตอนนี้สถานการณ์เพิ่งเกิดจึงประเมินค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม หากธปท.เห็นว่ามีความจำเป็นเพิ่มเติมพร้อมออกมาตรการออกมาดูแลต่อเนื่อง” นายรณดล กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo