Economics

คลอดแล้ว!! ‘พ.ร.บ.น้ำ’ กฎหมายปฏิรูปฉบับแรกของประเทศ

สุรจิต 4
ภาพจาก เฟซบุ๊ก surajit chirawate

และแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ก็ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ…. ใช้เวลาพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างนี้ นับจากที่คณะรัฐมนตรีเสนอต่อสนช. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560

โดยผ่านวาระ 1 ขั้นรับหลักการในวันดังกล่าว และวาระ 2 ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา รวม 26  คน  โดยมีภาคประชาชนนั่งเป็นตัวแทน 2  คน ประกอบด้วย นายสุรจิต ชิรเวทย์ และนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ

นายสุรจิต ในฐานะนักกฎหมายด้วยเล่าให้ฟังถึงกระบวนการร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำที่สุดหินเทียบกฎหมายหลายฉบับ ที่เขาเคยร่วมยกร่าง ว่า เราใช้เวลาพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ 576 วัน ประชุม  144 ครั้ง แก้ไขไปทั้งหมด 95 แห่ง ตั้งแต่คำปรารภไปจนถึงข้อสังเกตแนบท้าย พ.ร.บ. ทั้งแก้ไข ทั้งเพิ่มมาตรา และ ทั้งตัดทิ้ง ผ่านการรับฟังความคิดเห็น 10 เวทีทุกภาค ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 77 บังคับไว้

จากนั้นก็กลับเข้าสู่สนช.ในวาระ 2 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 พิจารณาตั้งแต่ 9.00-17.00 น.ไม่เสร็จ พักการประขุม มาประชุมต่อในวันนี้ 4 ตุลาคม 2561 เสร็จการพิจารณาและลงมติรายมาตราในวาระ 2 จากนั้นพิจารณาลงมติทั้งฉบับในวาระ 3

จากนี้ต่อไปเป็นขั้นตอนเตรียมทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ถือเป็นกฎหมายปฏิรูปฉบับแรก ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และเป็นความพยายามครั้งที่ 9 ในรอบเกือบ 20 ปี เพื่อให้มีกฎหมายกลางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 42 หน่วยงาน 10 กระทรวง กับอีก 37 พระราชบัญญัติ และ 1 รัฐธรรมนูญ

“จะเป็นอย่างไรก็ตาม เมื่อผลักดันกฎหมายสำคัญอย่างนี้ออกมาแล้ว ก็จะได้มีฐานที่จะพัฒนาปรับปรุงต่อไปในอนาคต”

รวมศูนย์บัญชาการน้ำภาวะวิกฤติ

โดยย้ำสาระสำคัญของกฎหมายคือมีการตั้ง “คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกรรมการจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย ตัวแทนกรรมการลุ่มน้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คนจาก 6 สาขาที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ร่วมเป็นกรรมการ เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการน้ำระดับประเทศ จากเดิมที่กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่างๆ

และให้ตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการ ทำหน้าที่บูรณาการแก้ปัญหาวิกฤติน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างในปัจจุบัน  ขณะเดียวกันกฎหมายก็กำหนดไว้ด้วยว่า เมื่อแก้ปัญหาวิกฤติน้ำแล้วเสร็จ ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รายงาน และจัดทำสรุปผลการดำเนินการเสนอต่อรัฐสภา เพื่อให้ทราบโดยไม่ชักช้า

ส่วนข้อกังวลของภาคเอกชนเรื่อง “การใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต” นายสุรจิต อธิบายว่า การให้อำนาจรัฐตามกฎหมายฉบับนี้มี 2 ส่วน เป็นการให้อำนาจในมาตรา 6  เป็นการให้อำนาจรัฐใช้ พัฒนา บริหารจัดการ บำรุงรักษา ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน…” ถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องให้อำนาจรัฐ ไม่เช่นนั้นรัฐก็เข้าไปบริหารจัดการไม่ได้

และกรณีการให้อำนาจรัฐเมื่อเกิดวิกฤติ ซึ่งกำหนดในมาตรา 57 ในกรณีเกิดภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรงในพื้นที่ใด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้บุคคลซึ่งกักเก็บน้ำไว้ต้องเฉลี่ยน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่นายกรัฐมนตรีประกาศ  ทั้งให้ผู้กักเก็บน้ำดังกล่าวมีสิทธิได้รับค่าทดแทนตามความเป็นจริงและเป็นธรรม

แม่น้ำ
ภาพจากเฟซบุ๊ก surajit chirawate

เปิดทางรัฐบริหารจัดการน้ำไม่ละเมิดทรัพย์สินเอกชน

ตามกฎหมายต้องเข้าใจเสียก่อนว่า รัฐไม่ใช่ “ตัวบุคคล” มีหน้าที่บริหารจัดการประเทศ  และน้ำเป็นทรัพยากรของชาติ เป็นของส่วนรวม กฎหมายให้อำนาจรัฐ เมื่อเกิดวิกฤติน้ำอย่างรุนแรง และในมาตรา 6 ก็กำหนดเป็นหลักประกันไว้แล้วว่า รัฐจะทำอะไร ต้องเพื่อประโยชน์ส่วนรวม  อย่างสมดุล และยั่งยืน

ส่วนคำว่า  “ทรัพยากรน้ำ” ในที่นี้ หมายถึงแหล่งต้นน้ำลำธาร แหล่งกักเก็บน้ำ คลองส่งน้ำ พื้นที่ทางน้ำหลาก ฯ ซึ่งไม่ใช่ของส่วนตัว  ไม่มีการไปแตะต้องทรัพย์สินส่วนตัวของใครเลย

และตามแนวนโยบายแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญมาตรา 72 (4) ก็กำหนดให้ “รัฐพึงดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากรน้ำ และพลังงาน ดังต่อไปนี้

(4) จัดให้มีทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพ และเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน รวมทั้งการประกอบเกษตรกรรม  อุตสาหกรรม และการอื่น”

“รัฐธรรมนูญ และกฎหมายสร้างประกันไว้ ดังนั้นหากใครก็ตามขุดบ่อน้ำเอาไว้ใช้เอง อยู่ดี ๆ รัฐจะไปเอาน้ำของเขามาใช้ไม่ได้อยู่แล้ว”

และอย่าลืมว่า มาตรา 6 พูดถึง Water Resource หมายถึง แหล่งต้นน้ำ แหล่งกักเก็บ คลองส่งน้ำ ฯ ที่ไม่ได้เป็นสมบัติส่วนตัวของใคร แต่เป็นสมบัติของชาติ รัฐก็มีหน้าที่และอำนาจ ในการเอาไปใช้ ไปพัฒนา ไปอนุรักษ์ ไปฟื้นฟู ฯ โดยมีกรอบเงื่อนไขและหลักประกัน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม สมดุล และยั่งยืน

“ปกติทราบดีว่าเอกชนบางแห่งดึงน้ำสาธารณะไปกักเก็บไว้ใช้  เมื่อเกิดวิกฤติน้ำแล้งรุนแรง ต้องใช้หลักการเฉลี่ยน้ำ เพื่อช่วยกันบรรเทาทุกข์ในยามวิกฤติ”

เสนอครม.นิยามวิกฤติน้ำแต่ละช่วงเวลา

โดยนิยามของ “วิกฤติน้ำ” ที่จะเข้ามาใช้กลไกของพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ หมายถึงกรณีใดนั้น ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำร่าง และเสนอคณะรัฐมนตรีกำหนดเป็นครั้งไป เพราะบริบทของวิกฤติน้ำแต่ละช่วงเวลาและแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน

ในฐานะภาคประชาชนที่คลุกคลีกับการบริหารจัดการน้ำทั้งระดับพื้นที่และระดับชาติ นายสุรจิต สรุปว่า เรารอคอย พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำมานานมากแล้ว หลายครั้งร่างแล้วก็ต้องล้มไป เพราะเป็นกฎหมายที่ร่างยาก เกี่ยวข้องกับหน่วยงานองค์กรนับสิบและกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงรัฐธรรมนูญ และเกี่ยวพันกับเอกชน

แต่ถึงตอนนี้ก็ผ่านมาได้แล้ว  ทำให้เกิดองค์กรและกลไกที่ชัดเจนมาดูแลการบริหารจัดการน้ำของประเทศ จากปัจจุบันที่ต่างคนต่างทำ และมีช่องโหว่มากมาย ทำให้การจัดสรรน้ำขาดประสิทธิภาพ และเกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ประชาชนจำนวนมากเข้าไปไม่ถึงแหล่งน้ำสาธารณะ  พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเป็นความหวังของเรา 

Avatar photo