Economics

9 key behavior สู่โลกอนาคตแบบปตท.

KNG 8905

ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ การปรับองค์กรให้ก้าวสู่ดิจิทัล (Digital Culture) ที่ต้องเชื่อมโยง คล่องตัว และไม่จำกัดเวลาและสถานที่ สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนต่ำ ไม่ถูก disrupt”  ไปเสียก่อน

“คน” เป็นปัจจัยใหญ่ที่จะนำพาองค์กรให้ตามฝัน บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ มีธุรกิจในมือมากมาย ทั้งธุรกิจหนักๆอย่างปิโตรเลียมไปจนถึงร้านกาแฟ  Café Amazon ทั้งต้องคงไว้ซึ่งบทบาทรักษาความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศด้วย  การประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าจึงเกิดขึ้นมาก่อนหน้าแล้ว

“หลายปีมาแล้วที่เราค่อยๆปรับสเปคคนปตท.ให้สอดคล้องกับยุคสมัย” นายกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บอกเราถึงแผนบริหารจัดการ”คน” ของปตท. พร้อมกับระบุว่า การปรับ”คน” ของปตท.จะล้อไปกับแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร เมื่อองค์กรจะก้าวสู่ดิจิทัล (Digital Culture)  การบริหารคนก็ต้องปรับให้ไปในทิศทางนั้น

Key Behavior

 

9 คุณสมบัติสู่โลกอนาคต  

9 คุณสมบัติของคนปตท.ยุคใหม่ เป็นเบ้าหลอมที่จะ Reshape คน ให้พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่โลกแห่งอนาคต ประกอบด้วย

  • Inclusiveness : ใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่หลากหลาย
  • Collaboration : ร่วมไม้ร่วมมือกัน
  • Risk Management : บริหารจัดการความเสี่ยงเป็น
  • Passion : มุ่งมั่นกระตือรือร้นที่จะทำให้งานสำเร็จ
  • Opportunity Seeker : แสวงหาโอกาสใหม่ๆ
  • Digital Mindset : มีแนวคิดมุ่งสู่โลกดิจิทัล
  • Agility :สามารถรับมือต่อสถานการณ์ที่กดดันหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างอย่างรวดเร็ว
  • Sense of Urgency : พร้อมรับมือกับสถานการณ์เร่งด่วนเสมอ
  • Entrepreneurship : เป็นนักบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ

นายกฤษณ์ อธิบายว่า คุณสมบัตินี้ถือเป็นคุณสมบัติใหม่ๆที่เราต้องการให้คนของเรามี นอกเหนือจาก “การมีจิตสาธารณะ”  คุณสมบัติเดิมที่ยังคงไว้ตลอดกาลในยุคที่คนไทยทุกคนต้องเป็น “จิตอาสา” จึงทำให้ทุกคนก้าวเดินไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ส่วนคุณสมบัติเฉพาะก็แตกสาขาไปตามสายงานที่ปตท.มีทั้งหมดอยู่ทั้งหมด 15 สายงาน อาทิ วิศวกรรม วิจัย กฎหมาย บัญชีและการเงิน บริหารงานบุคคล สื่อสารองค์กร เป็นต้น

ในฐานะต้องรับผิดชอบการพัฒนาคนในองค์กร นายกฤษณ์ ยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือให้คนมีคุณสมบัติอย่างนั้นได้ไม่ใช่เรื่องง่าย วิธีการของปตท. เป็นการนำคุณสมบัติแบบเดิม และของใหม่มาทาบกัน ส่วนที่ยังขาดก็จัดโปรแกรมการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรตามสายงานให้ไปสู่คุณสมบัติใหม่

สำหรับคนที่พัฒนาไปได้ก็ไปสู่ธุรกิจใหม่ ส่วนกลุ่มที่ไปไม่ได้ก็อยู่ในธุรกิจเดิม ได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งธุรกิจนี้ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญที่สั่งสมมานาน เพื่อให้ปตท.เป็นผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็งบนต้นทุนต่ำที่สุด ปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจเดิมรอดไปได้

ส่วนการลดจำนวนบุคลากรให้มีจำนวนเหมาะสมนั้น นายกฤษณ์ ระบุว่า ไม่ได้อยู่ในแผนปตท.เพราะเรามีจำนวนพนักงาน 3,000 – 4,000 คนมาตั้งแต่ 30 ปีก่อนจนถึงตอนนี้ แถมยังขยายงานไปมากมายถือว่าเราใช้คนน้อย ส่วนที่รับพนักงานใหม่มาปีละ 200 คนตั้งแต่ 2558 จากก่อนหน้ารับปีละ 100 คน เพราะรับมาแทนคนเกษียณอายุ และรองรับการขยายธุรกิจใหม่ๆที่ปตท.

“ก่อนหน้านี้เฉพาะบริษัทปตท.ไม่นับรวมบริษัทในเครือ มีพนักงาน 4,700 คน หลังวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาบางส่วนโอนไปยังบริษัทปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) บริษัทใหม่ที่ปตท.ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจเฉพาะด้าน ทำให้พนักงานหายไป 1,100 คน และมีพนักงานปตท.ไปช่วยงาน PTTOR ชั่วคราวอีก 400 คน สรุปแล้วมีพนักงานในสังกัดบริษัท ปตท.อยู่ 3,600 คนในวันนี้”

พนักงาน ุ60% เป็น Gen Y

นอกจากต้องปรับคนให้สอดรับกับแผนการเป็น Digital Culture แล้ว ต้องปรับให้คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่อยู่ได้อย่างกลมกลืนด้วย นายกฤษณ์  เล่าว่า พนักงานปตท. 60%  เป็น Gen  Y อายุเฉลี่ย 40 ปี ที่เหลือเป็นคนยุค Baby Boomer , Gen X ผสม Gen Z ประปราย

Gen  Y มีจำนวนมากมีข้อดีสำคัญ ก็คือ คนยุคนี้รับรู้เรื่องเทคโนโลยี รับรู้เรื่อง disruption มาตลอด เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงมาตามลำดับ  เช่น การตกยุคของฟิล์มถ่ายภาพ การปิดตัวของนิตยสารชื่อดังของไทยหลายต่อหลายฉบับแม้จะมีลูกค้าเหนี่ยวแน่นและเคยเป็นท็อปฮิตติด “Best Seller” การเปลี่ยนแปลงแบบฉับไวต่อหน้าต่อตาคน Gen Y ทำให้คนกลุ่มนี้เรียนรู้ที่จะปรับตัวและอยู่กับโลกเทคโนโลยี ขณะที่คนรุ่นเก่าเองก็เห็นถึงข้อดีของการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ที่ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และต้นทุนต่ำลง

สิ่งที่ปตท.กังวลมากกว่า คือ วิถีของเด็กรุ่นใหม่ นายกฤษณ์ บอกว่า ตอนนี้ความสนใจการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยลดลงไปมาก เพราะเด็กรุ่นใหม่มองว่าสามารถเรียนรู้ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องเข้าห้องเรียน หลายภาควิชาในบางมหาวิทยาลัย มีเด็กนั่งเรียนน้อยกว่าจำนวนอาจารย์ ซึ่งอาจกระทบกับคุณภาพของการศึกษาในที่สุด และการเกิดชกชิงตัวเด็กจากรั้วมหาวิทยาลัยจะเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น

หลายๆองค์กรรวมถึงปตท.เองให้ความสำคัญกับสถานการณ์นี้มาตลอด จึงไปพัฒนาเด็กตั้งแต่รั้วมัธยม เป็นองค์กรหลักในการก่อตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) เพื่อเตรียมเด็กให้มีความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์ และสถาบันวิทยสิริเมธี  (VISTEC)  พัฒนานักวิจัยต่อยอดสร้างมูลค่าให้กับทรัพยากรของประเทศ โดยไม่มีเงื่อนไขผูกมัดต้องทำงานกับปตท. รวมถึงร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาผลิตบุคากรให้ตรงกับสายงานที่ต้องการ

แต่โดยภาพรวมแล้ว องค์กรเรายังไม่น่าห่วง เพราะมีคนต้องการทำงานกับปตท.เป็นจำนวนมากกว่าจำนวนที่ต้องการรับ พิสูจน์ได้จากการทำการสำรวจของบริษัทจัดหางาน Jobs DB Recruitment (Thailand)  เมื่อเดือนพฤษภาคม  2560 เกี่ยวกับองค์กรที่พนักงานต้องการร่วมงานด้วยและปัจจัยสนับสนุน พบว่า บริษัท ปตท.เป็นองค์กรที่ผู้หางานต้องการร่วมงานมากที่สุดในบรรดา 10 องค์กรยอดฮิต

แน่นอนว่าปัจจัยสนับสนุนมาจาก 3 เรื่อง นั่นก็คือ 

  1. การให้โอกาสเติบโตในอาชีพและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
  2. ความมั่นคงในหน้าที่การงาน
  3. วัฒนธรรมองค์กร สภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นมืออาชีพ

ขณะที่นักศึกษาจบใหม่ มีเหตุผลอันดับ 2 และ 3 แตกต่างไปที่ต้องการร่วมงานกับปตท. ก็คือ มีทีมบริหารจัดการที่เป็นเลิศ มีความเป็นผู้นำ และมีโอกาสทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่มีศักยภาพสะท้อนการทำงานเป็นทีมเวิร์คของปตท.ในวันนี้ไม่ทิ้งล่อลอย “ต่างคนต่างทำ”

“นอกจากปตท.มีการขยายงานอย่างต่อเนื่อง มีเส้นทางการเติบโตที่เปิดทางให้กับพนักงานทุกคน แต่ประเด็นสำคัญที่สุด อยู่ที่แบรนด์ปตท.ที่ดึงดูดคนให้เข้ามาทำงานด้วย เหมือนอย่างที่ผมตัดสินใจมาทำงานที่ปตท.เมื่อ 30 ปีก่อนทั้งที่เงินเดือนต่ำกว่าเพื่อนรุ่นเดียวอย่างมาก และเชื่อว่ามาถึงวันนี้เหตุผลนี้ยังอยู่ในใจของคนที่ต้องการมาทำงานที่นี่ นั้นคือเป็นกิจการที่ทำเพื่อประโยชน์ประเทศ”

 

NG 4110

นายกฤษณ์ บอกว่า โจทย์ใหญ่ในวันนี้ของปตท.จึงไม่ใช่การหาคนมาทำงานกับเราได้หรือไม่  แต่ทำอย่างไรให้พนักงานรุ่นใหม่อยู่กับองค์กรและมีความสุขในการทำงาน เพราะคนรุ่นใหม่รักอิสระ ต้องการสมดุลในชีวิต หมายถึง “ทำงานและพักผ่อน” มาด้วยกัน แตกต่างจากคนรุ่นก่อนที่ทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ

สิ่งที่ปตท.ทำวันนี้จึงมุ่งไปที่การสร้างบรรยากาศในการทำงานให้เป็น Happy Workplace  ซึ่งกำลังค่อยๆปรับให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น ในเชิงกายภาพได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การจัดห้องทำงานส่วนกลางที่ให้พนักงานมาทำงานด้วยกันด้วยบรรยากาศผ่่อนคลาย นอกเหนือจากโต๊ะทำงานประจำ และมีแนวคิดจะให้พนักงานสามารถเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมกับทำงาน เพื่อให้งานไปด้วยกันกับการมีสุขภาพที่ดี เช่น มีเก้าอี้แบบพิเศษให้สามารถปั่นแข้งขาคล้ายจักรยานขณะนั่งทำงานหรือประชุม เป็นต้น

แนวทางการบริหารจัดการคนของปตท.ในวันนี้ที่ทำทั้งโครงสร้างภายนอก และภายในให้พนักงานภาคภูมิใจและรักที่จะทำงานในองค์กร  ปตท.จึงไม่ใช่องค์กรยักษ์ใหญ่ที่เทอะทะ  อ้วน ขยับตัวได้ยาก แต่เป็นองค์กรที่มีการทบทวนและปรับตัวตลอดเวลา พร้อมสู่โลกแห่งอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

Avatar photo