Economics

เปิดใจ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ บนภารกิจ เมกะโปรเจ็คประเทศไทย

แม้ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จากพรรคภูมิใจไทย จะเข้ามานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่ถึง 2 เดือนเต็ม  ชื่อของ “ศักดิ์สยาม” ก็ปรากฏชื่อบนหน้าสื่อแทบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า การผลักดันแกร็บถูกกฎหมาย การแก้ปัญหาจราจร รวมไปถึงการหย่าศึกโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ

ภารกิจหลักของเจ้ากระทรวงหูกวางแห่งนี้ย่อมหนีไม่พ้นเรื่อง “การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน” ซึ่ง “ศักดิ์สยาม” ต้องรับไม้ต่อจากสิ่งที่รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ริเริ่มไว้เมื่อ 5 ปีก่อน

c7e64f25a5aee99d24c139bf61b8a3e65 4620693218502607831 ๑๙๐๗๑๘ 0032

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “The Bangkok Insight” ว่า ในห้วงเวลานี้ กระทรวงคมนาคมมีเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด 1.9 ล้านล้านบาท  เป็นการลงทุนทางบก อากาศ น้ำ และราง

สำหรับเมกะโปรเจคหลักที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคมคือ “โครงการรถไฟทางคู่” และ “โครงการรถไฟความเร็วสูง ขณะนี้ “โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา” วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ลงมือก่อสร้างไปแล้ว 2 สัญญา อีก 5 สัญญา กำลังตรวจสอบคุณสมบัติ อีก 5 เพิ่งยื่นข้อเสนอ แต่ยังไม่ได้ประกาศผล ตรงนี้ไม่น่าวิตกกังวล และยังไม่ได้เปิดประมูลอีก 2 สัญญา

สำหรับการเจรจาร่างสัญญารถไฟไทย-จีน ฉบับที่ 2.3 ซึ่งเป็นงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 50,600 ล้านบาท  รองนายกรัฐมนตรี “อนุทิน ชาญวีรกูล” ก็จะมาช่วยในการผลักดัน  โดยได้เรียน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีไปแล้ว

ระบบราง 190103 0031

เบื้องต้นได้สนทนาอย่างไม่เป็นทางการกับท่านทูตจีนประจำประเทศไทยแล้ว ซึ่งคุยกันไปคุยกันมาประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน 12 เรื่อง แต่เหลืออยู่ 2 เรื่อง ซึ่งวันนี้ (10 ก.ย.) ฝ่ายกฎหมายของทางจีนกับฝ่ายกฎมายของไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กระทรวงการคลัง กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และอัยการสูงสุด จะมาลงรายละเอียดว่าเรื่องทั้งหมดจะตกลงกันได้ขนาดไหน

“เราอยู่บนพื้นฐานการเดินหน้าไปด้วยกัน  เป็นผลประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ คงไม่มีเรื่องที่ใครอยากจะได้เปรียบ เสียบเปรียบกันสักเท่าไหร่ เพราะถ้าโครงการนี้เกิดมันก็จะต่อเชื่อมจากจีน ทะลุไปทั้งอาเซียนและเอเชียเลย ประโยชน์ตรงนี้จะมหาศาลมากๆ อันนี้ก็ต้องดูประโยชน์ในภาพรวมด้วย ถ้าถามว่าจะช้ากว่ากำหนดหรือไม่ ไม่ เราก็จะผลักดันตามแผนทุกอย่าง”

ด้านโครงการ “รถไฟรางคู่” ผมพยายามจะทำในเฟสที่มีได้ใน 3 ปี เพื่อสร้างโลจิสติกส์ทางราง นำสินค้าออกจากถนนไปขนส่งทางรางเพิ่มขึ้นเป็น 30% โดยเบื้องต้นคร่าวๆ มีความเป็นไปได้ ก็พยายามผลักดัน แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ วันนี้นายกฯ ก็ได้ให้เครื่องมือมาเยอะ เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือการลงทุนแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) แต่การทำ PPP ก็ต้องไปดูให้ทุกคนไม่เสียเปรียบกัน

ลุยรถไฟฟ้าสายสีส้ม

นอกจากนี้ “โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า MRT สายสีส้ม (ตะวันตก) บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย” วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท  เป็นโครงการใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ต้องผลักดัน  ตอนนี้เรื่องอยู่ที่กระทรวงการคลัง ซึ่งติดปัญหาเรื่องการขออนุมัติกรอบวงเงินเพื่อชำระค่าก่อสร้าง

ครั้งแรกที่เสนอเข้าไปกรอบวงเงินไม่เพียงพอ เพราะเอาไปใช้ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่เบื้องต้นได้ประสานงานภายในแล้ว ท่านรองนายกฯ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” พยายามผลักดันและมีวิธีการที่ให้ดำเนินการต่อไป ก็ให้ประสานกับกระทรวงคลังแล้วเสนอต่อเลย โดยจะผลักดันให้เร็วที่สุด เรื่องใหญ่ๆ ไม่น่าจะมีประเด็น

ถนน ทางหลวง ด่านบางขุนเทียน 4

ยก “วงแหวนรอบนอก” เป็นโมเดลสร้างถนน

สำหรับทางบก โครงการก่อสร้างต่างๆ ทั้งถนน ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และทางยกระดับ จะใช้รูปแบบการบริหารสัญญาที่ประสบความสำเร็จใน “โครงการก่อสร้างวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก” มาดำเนินการ  ที่ผ่านโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมไม่ได้ใช้เรื่องที่ประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบ

แนวทางนี้จะมีหลักการอยู่ 5-6 มิติ เช่น การจราจร เครื่องจักร การเปิดหน้างาน เป็นต้น ถ้าทำให้ครบเราจะสามารถบริหารสัญญาให้ไม่เกิดความเดือดร้อนกับพี่น้องประชาชน แล้วโครงการสามารถสำเร็จได้ตามเวลา

สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่มีปัญหาอยู่ตอนนี้คือ “มอเตอร์เวย์ ช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี” ติดเรื่องค่าเวนคืน เพราะกฤษฎีกาแย้งว่า คู่มือการเวนคืนโครงการนี้ไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การเวนคืน  ผมก็ได้บอกท่านปลัดฯ “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ไปแล้วว่า “เราทำใหม่ก็ได้” ไปขอถอนเรื่องจากกฤษฎีกา แล้วก็ทำเรื่องให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.เวนคืน คิดว่าใช้เวลาไม่นาน

สำหรับงบประมาณเวนคืนที่คาไว้ 5,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562  ได้ตกลงกับกรมบัญชีกลาง ขอโอนงบประมาณราว 1.8 พันล้าบาท ไปใช้เรื่องที่ดินและการอุทธรณ์ อีก 3,000 ล้านบาท ก็กันงบประมาณแบบไม่ก่อหนี้ไว้ใช้ในโครงการบางใหญ่เหมือนเดิม

ถนน ทางหลวง ด่านบางครุ

ทำให้จบก่อนเสนอ ครม.

“ศักดิ์สยาม” ยอมรับว่าหลายเรื่องต้องไปปรับ ไปตรวจสอบกันใหม่ เช่น “มอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ” ก็มีการต่อต้านกันอยู่ ผมฟังมาว่าสร้างไปก่อนไม่เป็นไร แต่มันไม่ได้หรอก สร้างแล้วมันไม่จบจะทำยังไง

“หลายเรื่องจริงๆ ผมว่าสามารถดำเนินการให้มันสมบูรณ์ได้ก่อนที่จะเสนอโครงการ ซึ่งท่านนายกฯ ก็บอกแบบนี้ คุณอยากทำโครงการใหญ่ๆ มาก แต่เวลาคุณไปศึกษา ออกแบบ ไปรับฟังความคิดเห็นแล้วมันไม่จบ แล้วคุณก็พยายามจะผลักให้มันเกิด พอเกิดแล้วก็คา ตอนนี้ผมก็บอกว่า ไม่จำเป็นหรอกคุณจะไปทำทั้งโปรเจ็ค ตัดก็ได้ เอาที่พร้อม แต่แนวที่จะไปก็ดูให้สมบูรณ์ก่อน ไม่ใช่เลื้อยเป็นงู”

นอกจากนี้  ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ช่วยดูเรื่องการบูรณาการโลจิสติกส์ทุกรูปแบบว่า มีการเชื่อมต่อกันหรือยัง ถ้ายังแล้วจะบริหารและเชื่อมกันอย่างไร ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น “มอเตอร์เวย์ ช่วงบางปะอิน-นครราชสีมา” ที่ไปแล้วก็ไม่เชื่อมกับถนนเลี่ยงเมืองของทางหลวงชนบท (ทช.) ที่อยู่ใกล้กัน แต่ต้องไปขับรถยูเทิร์นกลับมา  มันก็ขัดกับสิ่งที่เรียกว่ามอเตอร์เวย์ที่ต้องการให้ไปได้สะดวก

หรือทางพิเศษ (ทางด่วน) ในเมืองซึ่งต้องบริหารเรื่องเส้นทางด้วย อย่างทางด่วนแจ้งวัฒนะ ทำไมไม่ลงไปในศูนย์ราชการ ตอนนี้ได้สั่งการให้ไปดูแล้ว แต่คงต้องลงก่อนเพื่อเข้าศูนย์ราชการ เพราะไม่มีพื้นที่แล้ว

fig 01 05 2019 06 17 39

ทางน้ำ “อย่าผูกขาด”

การขนส่งทางน้ำได้ให้รัฐมนตรีช่วย “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” ไปดูแล แต่ได้ให้คำแนะนำไปว่า ทางน้ำเหลือศักยภาพอีกมาก “แม่เจ้าพระยา” ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีศักยภาพที่จะทำเรื่องนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้คนที่สัญจรอยู่บนบกไปใช้ทางน้ำแทน

จึงให้ไปดูว่าจะก่อสร้างท่าเรือเพิ่มเติม เป็นลักษณะคู่ขนานที่ไม่ติดท่าเรือเดิมได้อย่างไร รวมถึงพัฒนาท่าเรือให้มีคุณภาพ ปลอดภัย คนมาใช้บริการแล้วรู้สึกว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวก เรือที่มารับก็ต้องสะดวก ปลอดภัย อยู่ในราคาที่เป็นทางเลือกได้ พร้อมให้นโยบายว่า “อย่าไปผูกขาดเลย อะไรที่ผูกขาดสุดท้ายมันแย่”  

สำหรับการขนส่งสินค้าภายในประเทศ ก็เริ่มจากเคส “ถนนพระราม 2” ที่รถติดเยอะ ถ้าเราเปลี่ยนมาเป็นโลจิสติกส์ทางน้ำ แบ่งรถออกไปจากถนน จะทำได้ไหม

จากการศึกษาเบื้องต้นคราวๆ น่าจะทำได้ ด้วยการนำเรือแพขนานยนต์ลำใหญ่มาขนรถบรรทุก ไปท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยต้นทางมีท่าเรือของกรมเจ้าท่า (จท.) หรือท่าเรือของสหวิริยาที่เป็นเอกชนอยู่แล้วที่บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

วันนี้ก็ต้องเอาข้อมูลจีพีเอส ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) มาดูว่า รถบรรทุกที่วิ่งไป-กลับจากภาคใต้ไปท่าเรือแหลมฉบังมีจำนวนเท่าไหร่ แล้วก็เชิญทุกฝ่ายมานั่งหารือด้วยกันว่า ท่านคิดว่าอย่างไร ค่าระวางควรเป็นเท่าไหร่ จะได้เห็นรายละเอียดกัน

เท่าที่ดูเบื้องต้นจะประหยัดต้นทุนให้ผู้ประกอบการที่เคยใช้ถนน ความปลอดภัยดีขึ้น ค่าใช้จ่ายดีขึ้น ลดปัญหาจราจรได้ด้วย สิ่งเหล่านี้ต้องดูให้เขาคุยกันให้จบ ส่วนผู้ประกอบการที่สนใจทำโลจิสติกส์ทางน้ำ เป็นเรือแพขนานยนต์ใหญ่ลงได้ที 180 คันรถบรรทุก ต้องมาทำแผนร่วมกันว่าใช้เวลาวิ่งเรือเท่าไหร่ ไปกลับใช้เรือขนาดไหน

ถ้าทำแล้วเรือไม่พอ คนคงใช้บริการน้อย เพราะไปแล้วต้องรอ สู้ฝ่ารถติดดีกว่า แต่ถ้ามาแล้วได้ลงเรือไป-กลับ ก็จะเป็นทางเลือกที่มีประโยชน์มากๆ “ผมก็ได้ให้โจทย์ว่า จะเอาให้เสร็จภายในปีนี้”

fig 09 05 2019 04 05 36

ดันรถไฟเชื่อม EEC-ท่าเรือระนอง

ขณะที่ฝั่งอันดามัน ก็มีศักยภาพเยอะ ที่จังหวัดระนองมีโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอยู่แล้ว เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศเมียนมา ศรีลังกา อินเดีย และไทย ซึ่งตรงนี้นับเป็นฮับใหญ่ในระดับนานาชาติ

โลจิกสติกส์ทางน้ำและทางรางก็ต้องเชื่อมต่อกับ EEC คงต้องเร่ง เพราะทางรถไฟฯบอกให้ทำท่าเรือเสร็จก่อน แล้วจึงทำทางรถไฟ “ผมถามทำไมคุณไปคิดแบบนั้น คุณเห็น EEC ไหมทำ 3 อย่างพร้อมกันเลยนะ ท่าเรือ อากาศ และรถไฟ ถ้าคุณไปรอท่าเรือเสร็จก็ไม่มีใครมา แต่ถ้าพร้อมกัน คนก็จะเห็นว่าเป็นโลจิสติกส์ที่เชื่อมกับ EEC ได้”

“ศักดิ์สยาม” ยังมอบให้รัฐมนตรีช่วยไปดูลำน้ำต่างๆ ว่าทำอะไรได้บ้าง เรื่องแรกไปดูภัยแล้งก่อน เพราะขณะนี้กรมเจ้าท่ามีกฎหมายเรื่อง “ต่างตอบแทน” คือผู้ประกอบการหรือประชาชนอยากจะเอาสิ่งที่อยู่ในน้ำ เช่น ดินหรือทราย ที่จะขุดลอกออกมา ก็สามารถตีราคาเอาไปได้และมีกฎหมายรองรับ

แต่ต้องออกแบบวิธีการที่ชัดเจน เพราะถ้าทำแล้วแทนที่มีประโยชน์ กลับไปทำลาย ก็ไม่เอา ก็ให้นโยบายไป ถ้าทำสำเร็จผู้ประกอบการคงสนใจ แต่ต้องดูให้ละเอียดไม่เช่นนั้นเหมือนไปสร้างปัญหา รวมถึงให้ดูลำน้ำทั่วประเทศ  ถ้าเราพัฒนาให้ดีๆ ก็จะเป็นทางเลือกอีกทางในการขนส่งสินค้าจากจังหวัดที่อยู่ในแนวลำน้ำ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้

c7e64f25a5aee99d24c139bf61b8a3e65 4620693218502607831 ๑๙๐๗๑๘ 0005
อธิรัฐ รัตนเศรษฐ์ รมช.คมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม

เดินหน้า 3 โปรเจ็ค EEC

สำหรับโครงการใน EEC  มีคณะกรรมการ EEC เป็นคนกำกับอยู่แล้ว กระทรวงคมนาคมเพียงเข้ามาดูแลคล้ายๆ ผู้สนับสนุน เพราะว่ามีโครงการที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานกระทรวงรวม 3 เรื่อง “

1. “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง” มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท  การรถไฟฯ บอกว่าการเจรจาร่างสัญญายุติแล้ว แต่ต้องรอให้เอกชนที่ชนะการประมูลมาให้คำตอบ ถ้าเอกชนโอเคก็มาลงนามสัญญา ซึ่งก็คิดว่าไม่น่ามีประเด็นอะไร เพราะข้อเจรจาของฝ่ายเอกชนที่ตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติม เท่าที่ฟังการรถไฟฯ กับ EEC ก็ไม่น่าจะปรับอะไรเกินเงื่อนไขการประมูล (TOR) ได้

2.”ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา” (MRO) อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียด ระหว่างแอร์บัสและบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม “ถาวร เสนเนียม”  ติดตามอยู่ คิดว่าไม่น่ามีปัญหา

ตอนนี้แอร์บัสตั้งประเด็นมา เช่น ใครจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินและอุปกรณ์ ในเมื่อให้สัญญายาว แต่ทำไมต้องให้ยกทรัพย์สินให้เร็วกว่าสัญญา แล้วทางฝั่งไทยสามารถสร้างบุคลากรมารองรับทันไหม เพราะมีความต้องการบุคลากรเยอะ แต่กำลังการผลิตที่กรุงเทพฯ ไม่เพียงพอ

เรื่องนี้โรงเรียนการบินจะต้องสนับสนุนอยู่ข้างหลัง แต่ตอนนี้มีข้อจำกัดหลายเรื่อง เพราะโครงการก่อสร้างโรงเรียนยังถูกสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งข้อสังเกตถึงความคุ้มค่า  ต้องประสานรายละเอียดให้ชัดเจน

3. “โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3” ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ซึ่งยื่นซองประมูลหมดแล้ว แต่ผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติไปใช้สิทธิ์ทางศาลในการอุทธรณ์ ก็ต้องรอการพิจารณาของศาล คาดว่าใช้เวลาไม่นานก็จะเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าศาลสั่งให้คุ้มครอง ก็กลับมารับข้อเสนอของผู้ร้องใหม่ แต่ถ้าศาลสั่งไม่คุ้มครอง ก็เดินหน้าการประมูลต่อไป

Avatar photo