Economics

ก่อนถูก disrupt ‘กฟผ.’ เร่งปรับปรุงโรงไฟฟ้าเป็น ‘Flexible Power Plant’

กฟผ.เร่งปรับปรุงโรงไฟฟ้า ป้องกันถูก disrupt และรองรับพลังงานหมุนเวียน นำร่องโรงไฟฟ้าวังน้อย 165 ล้านบาท วางเป้าภายในไม่เกิน 10 ปี ต้องปรับเป็นโรงไฟฟ้าแบบยึดหยุ่น 50% ของโรงไฟฟ้าทั้งหมด พร้อมเร่งเบิกจ่าย 50,000 ล้านบาทปีนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านพีคคาดเพิ่มอีกไม่เกิน 500 เมกะวัตต์ ขึ้นกับอุณหภูมิ

IMG 20190430 141211
วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในโอกาสครบรอบ 50 กฟผ.ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ว่า กฟผ.กำลังเร่งปรับปรุงทั้งโรงไฟฟ้า และการบริหารจัดการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากการถูก disrupt ซึ่งมาจากปัจจัยการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียน และการผลิตไฟฟ้าใช้เอง และการเข้ามาของดิจิทัล

ดังนั้นโรงไฟฟ้าจะต้องปรับปรุงให้โรงไฟฟ้ามีความยึดหยุ่น ( Flexible Power Plant ) เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักได้อย่างทันท่วงทีเมื่อพลังงานหมุนเวียนหายไป และรองรับโหลดต่ำ ได้ในระดับ 30% จากเดิม 60% เป็นต้น โดยกำลังทำโครงการนำร่องที่โรงไฟฟ้าวังน้อย หน่วยที่ 4 วงเงินลงทุน 165 ล้านบาท ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นช่วยประหยัดได้ 300 ล้านบาทต่อปี จะมีการเปิดประมูลเพื่อประกวดราคาหาผู้รับเหมาเร็วๆนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 จากนั้นจะขยายไปโรงไฟฟ้าอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลาต่อไป

ทั้งนี้กฟผ.มีแผนที่ จะทำให้มีโรงไฟฟ้าแบบยึดหยุ่นให้ได้ 50% จากโรงไฟฟ้าทั้งหมดภายใน 5-10 ปี เน้นดำเนินการในโรงไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่ที่มีพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น ในโซนภาคกลาง เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของกฟผ.

นอกจากนี้กำลังพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage) และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) นำร่อง 2 แห่ง ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ และ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ขณะเดียวกันจะพัฒนาโรงไฟฟ้าสู่การเป็นโรงไฟฟ้าดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูง แม่นยำ ควบคุมและสั่งการผ่านระบบดิจิทีล มีระบบจัดเก็บข้อมูลของตัวโรงไฟฟ้าเองได้ ทำให้เป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและพร้อมจ่ายสูงนำร่องที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และโรงไฟฟ้าจะนะ

ส่วนระบบส่งไฟฟ้า จะมุ่งเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน ขยายขอบเขตการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานในระดับภูมิภาค (Grid Connectivity ) ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Power Grid ) ระยะแรกเป็นการซื้อขายระหว่างประเทศแบบพหุภาคี และมัลติ (Multilateral Power Trade ) เช่น ลาว ไทย มาเลเซีย เพื่อเพิ่มปริมาณรับซื้อจาก 100 เมกะวัตต์เป็น 300 เมกะวัตต์ และจะขยายไปยังประเทศสิงคโปร์ในอนาคต

ทางด้านแผนการเบิกจ่ายงบประมาณในปีนี้ นายวิบูลย์ กล่าวว่า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล กฟผ.มีแผนเบิกจ่ายรวม 50,000 ล้านบาท โครงการลงทุนหลักเป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าบางปะกง และพระนครใต้ แผนลงทุนรายปีต่อเนื่อง โครงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าวังน้อยให้เป็นโรงไฟฟ้าแบบยึดหยุ่น เป็นต้น

สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ในระบบกฟผ.หลังจากนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 500 เมกะวัตต์จากพีคของกฟผ.ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ที่ 30,120.2 เมกะวัตต์

IMG 20190430 153648
จรรยง วงศ์จันทร์พงษ์

ทางด้านนายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการควบคุมระบบ กฟผ.เสริมว่า พีคในระบบของกฟผ.จะเพิ่มอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากมีฝนตกก็เป็นไปได้ว่าพีคจะไม่เพิ่มไปจาก 30,120.2 เมกะวัตต์ ต้องรอดูในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมอีกครั้ง โดยปีนี้ปัจจัยใหญ่ของพีคอยู่ที่สภาพอากาศที่ร้อนเป็นปัจจัยหลัก ส่วนสภาพเศรษฐกิจปีนี้นิ่ง จึงไม่มีผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้ามากนัก โดยทุก 1 องศาที่เพิ่มขึ้น การใช้ไฟฟ้าจะเพิ่ม 400 เมกะวัตต์

Avatar photo