Economics

คำต่อคำ : ดิจิทัลวอลเล็ต เคลียร์ชัด แหล่งที่มาของเงิน ใครมีสิทธิ์บ้าง เริ่มใช้เมื่อไหร่?

คำต่อคำ : ดิจิทัลวอลเล็ต เคลียร์ชัด แหล่งที่มาของเงิน ใครมีสิทธิ์ เริ่มใช้เมื่อไหร่ ด้าน “นายกรัฐมนตรี” ยันโปร่งใส่ ซื่อสัตย์ สุจริต ผลประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์ตกไปอยู่กับพี่น้องประชาชน

ภายหลังการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

ดิจิทัลวอลเล็ต

สื่อมวลชนได้สอบถามว่ามาตรการที่ออกในวันนี้ ผิดจากความตั้งใจแรกในตอนหาเสียงหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระยะเวลาที่จะเกิดขึ้นได้ แต่แน่นอนเราเป็นรัฐบาลที่ต้องรับฟังเสียงของประชาชน ซึ่งเดิมที่คาดว่าจะออกมาตรการมาต้นปีนี้ แต่ก็ล่าช้ามาถึงปลายปี อย่างที่เรียนเราต้องฟังเสียงจากทุกคน ที่มาให้ข้อแนะนำ และข้อเสนอแนะ ซึ่งในเรื่องของการตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อให้เป็นโครงการที่ โปร่งใส่ ซื่อสัตย์และสุจริต ผลประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์ตกไปอยู่กับพี่น้องประชาชน

ส่วนเรื่องการกู้เงินที่ไม่ได้กู้โดยออก พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. แล้ว แต่เปลี่ยนมาใช้เงินของธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตรแทน รัฐบาลจะต้องตั้งงบประมาณในการใช้หนี้เท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไร และกระจายในระยะเวลากี่ปีนั้น นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) งบประมาณปี 2568 ซึ่งการดำเนินการจะต้องเป็นไปตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งวันนี้ที่ได้ตรวจสอบคือ 1. อำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. สามารถทำได้หรือไม่ คำตอบ “ทำได้” 2. สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. มีเพียงพอหรือไม่นั้น “มีเพียงพอ” ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราได้ยืนยันต่อที่ประชุมภายในวันนี้ และเมื่อถึงเวลาจริง ๆ ในวันที่ต้องใช้ก็ต้องให้งบประมาณ 2568 ออกมาก่อน ซึ่งรายละเอียดจะตามออกมา

ดิจิทัลวอลเล็ต
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

สำหรับประเด็นโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่จะเข้ากระเป๋าประชาชนจำนวน 10,000 บาท จะเป็นการเข้าล็อตเดียวหรือทยอยจ่ายนั้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เข้าล็อตเดียว ส่วนกรณีร้านค้าที่จะสามารถเบิกเงินได้ที่แบ่งครั้งที่สองก่อน เอาอะไรมาวัดตรงนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระบวนการที่ได้มีการกำหนดในชั้นอนุกรรมการมีข้อห่วงใยในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น เรื่องของการซื้อรถ แลกรถ และประเด็นในเรื่องของการสร้างตัวคูณทางเศรษฐกิจ จะมีเพียงพอหรือไม่นั้น ซึ่งหลังจากที่ได้พิจารณาอย่างละเอียดทางฝ่ายเลขาฯ ได้นำเสนอมาที่ชั้นอนุกรรมการแล้วส่งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 ในวันนี้ โดยเสนอให้กลไกการใช้จ่ายเงินดิจิทัล ต้องใช้ 2 รอบเป็นอย่างต่ำเพื่อให้เกิดตัวคูณทางเศรษฐกิจอย่างที่เหมาะสม เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการเงิน Digital Wallet โดยรอบแรกประชาชนใช้กับร้านค้าขนาดเล็ก จะเป็นร้านหน้าบ้าน ร้านก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น เมื่อใช้แล้วร้านค้าดังกล่าวก็นำเงินไปซื้อสินค้าทุน กับร้านค้าอื่น ๆ ต่อไปอีกหนึ่งถอดจึงจะขึ้นเงินได้

ส่วนประเด็นการมองในแง่ขององค์ประกอบของการประชุมบอร์ดชุดใหญ่ที่การประชุมทั้ง 2 ครั้ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้มาร่วมประชุมด้วยแม้จะมีผู้แทน ธปท. มา จะทำให้เป็นปัจจัยหรือการตั้งคำถามอะไรตามมาหรือไม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นประเด็นอะไร เนื่องจากได้มีการส่งตัวแทนมาแล้วซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่ถูกต้องทุกประการ ส่วนที่ถามว่าคนไหนอยู่หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ตรงนี้ก็ยังมีอีกหลายท่านที่ไม่ได้มาในวันนี้ เพียงแต่ไม่ได้มีการถามถึง ตรงนี้จึงไม่มีประเด็นอะไร ขณะที่นายกฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวว่า รับทราบท่านบอกท่านติดภาระกิจ และได้มีการมอบตัวแทนมา ถือว่าทุกอย่างเป็นไปตามชอบธรรม และถูกต้อง

ดิจิทัลวอลเล็ต
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

กรณีเงื่อนไขร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาทรัฐบาลได้มีการเปลี่ยนหรือไม่ ในการกำหนดเรื่องของเงินเดือน และเงินฝากด้วย รวมถึงคนที่ได้เคยเข้าโครงการ Easy E-Receipt ไปแล้วยังสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้หรือไม่นั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยังสามารถเข้าร่วมโครงการได้ เนื่องจากโครงการ Easy E-Receipt เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงต้นปีระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ปิดไปแล้ว ไม่มีการเกี่ยวเนื่องกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทฯ ส่วนที่เปลี่ยนจาก 70,000 บาทต่อเดือนเป็น 840,000 บาทต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการของทางกรมสรรพากรเท่านั้น ตัวเลขเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

กรณีประเด็นโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่จะช่วย GDP ประมาณ 1.2 % ถึง 1.6 % จะมีผลในปี 2567 เท่าไร และปี 2568 เท่าไร เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีระยะเวลา 6 หกเดือน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า โครงการมี Impact เงินออกไตรมาส 4 แล้ว ซึ่งผลกระทบคงตกอยู่ในปี 2568 เป็นหลัก ส่วนโครงการนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจในปี 2567 ที่มีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และปี 2568 โครงการ Digital Wallet จะช่วยทำให้ GPD นั้นเติบโตใกล้เป้าของรัฐบาล 5% หรือไม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการกล่าวว่า “แน่นอน” และยืนยันอีกอย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์หรือโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นเพียงแค่ 2 ในหลาย ๆ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะออกมา ซึ่งในระหว่างปีต่อไปก็จะมีโครงการอื่น ๆ เพื่อที่จะสร้างกำลังซื้อ สร้างการจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป

ดิจิทัลวอลเล็ต

ส่วนที่ต้องการให้ขยายความในประเด็นร้านค้าขนาดเล็ก กรณี 7-ELEVEN กับ Makro ถือว่าเป็นร้านค้าขนาดเล็กหรือไม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รายละเอียดนี้สุดท้ายต้องมีการ finalize อีกรอบ แต่ในเบื้องต้นร้านสะดวกซื้อลงมาคือร้านค้าขนาดเล็ก ส่วน Makro และห้างสรรพสินค้า แน่นอนว่าไม่รวมอยู่ด้วย 

ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า เหตุผลที่เลือกร้านค้าขนาดเล็กเพื่อให้กระจายอยู่ในพื้นที่ กระจายอยู่ในชุมชน และต้องการให้เกิดการหมุนในระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุด ในส่วนของร้านที่ไม่สามารถใช้ได้ในรอบแรก จะไม่รวมห้างสรรพสินค้า ไม่รวมห้างค้าปลีก และค้าส่งขนาดใหญ่ ทั้งนี้จะรวมตั้งแต่ร้านค้าปลีกทุกประเภท และร้านสะดวกซื้อทั้งแบบ Stand Alone และแบบที่ตั้งอยู่ในสถานบริการน้ำมันลงมา เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนที่จะยกเว้นก็คือห้างค้าส่งขนาดใหญ่ ห้างค้าปีกขนาดใหญ่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

กรณีประเด็นมาตรา 28 พระราชบัญญัติวินัยการคลังของรัฐ กรอบเดิม 32 และมีการใช้ไป 31.79 คณะกรรมการวินัยการคลังได้มีการขยายกรอบขึ้นไปแล้วหรือไม่ในรอบล่าสุด ต้องมีการขยายกรอบเพิ่มอีกหรือไม่ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรา 28 พระราชบัญญัติวินัยการคลังของรัฐ ไม่มีการขยายกรอบและจะไม่มีการขยายกรอบ ในส่วนของตัวงบประมาณปี พ.ศ. 2567 ถ้าเกิดมีผลบังคับใช้แล้ว กรอบตรงนี้ก็จะกว้างขึ้น และงบประมาณ ปี พ.ศ. 2568 ที่จะบังคับใช้ในเดือนตุลาคม กรอบตรงนี้ก็จะกว้างขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นหลังจากการประเมินของการใช้โครงการ หลังจากมีการใช้เงินของ ธ.ก.ส. ตรงส่วนนี้แล้ว ตัวมาตรา 28 กรอบอาจจะลงต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ได้ เพราะฉะนั้นหมดความกังวลเรื่องวินัยการเงินการคลัง ตามมาตรา 28

ดิจิทัลวอลเล็ต
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ต่อคำถามที่ว่าตรงนี้ให้ ธ.ก.ส. สำรองเงินจ่ายไปก่อน โดยจ่ายแจกแก่เกษตรกรไปได้เลย ทั้งนี้ได้มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ในการใช้หนี้คืน ธ.ก.ส. ได้เมื่อไร ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ส่วนนี้เป็นกระบวนการทางงบประมาณ ซึ่งในแต่ละปีต้องดูเหตุของความจำเป็น และรายได้ที่ได้เข้ามา ซึ่งเรามีการตั้งใช้คืนสถานบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว ซึ่งต้องจะดูความเหมาะสมในแต่ละปีงบประมาณ

ส่วนกรณีคำถามประเด็นขอให้ลงรายละเอียดส่วนที่ 3 การใช้งบประมาณปี พ.ศ. 2567 จำนวน 150,000 ล้านบาท รายละเอียดและเนื้อหาภายในส่วนที่ 3 เป็นอย่างไรนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตรงนี้ยอดคือ 175,000 ล้านบาท แต่งบประมาณปี พ.ศ. 2567 เพิ่งออกใช้ เฉพาะฉะนั้นรัฐบาลมีเวลาที่จะบริหารจัดการเงินในส่วนนี้ ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้ แต่ต้องให้เวลารัฐบาลด้วย

ทั้งนี้ ในตอนท้าย นายกฯ กล่าวยืนยันว่าไม่ได้บั่นทอนเรื่องการลดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เงินตรงส่วนนี้ยังคงอยู่ในระบบ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK