Economics

‘มอเตอร์เวย์-ไฮสปีด’ เชื่อมโคราชฝ่าวิกฤติ ‘ถนนมิตรภาพ’ ช่วงเทศกาล (ตอน 1)

มิตรภาพหนาแน่นเสมอบน ถนนมิตรภาพ” โดยเฉพาะในช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ ที่ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหน ก็มีแต่เพื่อนร่วมทางเต็มไปหมด สภาพการจราจรติดขัดจนชิน แต่ประชาชนอย่างเราๆ ก็ยังจำเป็นต้องใช้ถนนสายนี้ผ่านจังหวัดนครราชสีมา (โคราช) เพื่อเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีสานบ้านเฮาอยู่ดี

แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งหมดหวังซะทีเดียว!! เพราะตอนนี้เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช กำลังมีการก่อสร้างระบบคมนาคมขนส่งใหม่ๆ ซึ่งจะมาช่วยบรรเทาปัญหาจราจรและเป็นทางเลือกในการเดินทางสู่ภาคอีสานได้มากขึ้น

โครงการที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ก็คือ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงบางปะอิน-โคราช” และ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-โคราช ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีกำหนดจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการพร้อมกันในปี 2566 หรืออีก 4-5 ปีข้างหน้า แต่ระหว่างนี้ทั้ง 2 โครงการมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ไปติดตามพร้อมกันเลย!

มอเตอร์เวย์โคราช2
ความคืบหน้าของการก่อสร้าง ในช่วงที่ผ่านเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา

มอเตอร์เวย์สู่อีสานสายแรก

“มอเตอร์บางปะอิน-โคราช” เป็นมอเตอร์เวย์สายแรกที่ช่วยเชื่อมการเดินทางระหว่างภาคกลางไปยังภาคอีสาน จุดเริ่มต้นของโครงการอยู่ที่ถนนกาญจนาภิเษก (ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก) ในอำเภอบางปะอิน จังหวัดอยุธยา ไปสิ้นสุดบริเวณเลี่ยงทางเมืองโคราชด้านตะวันตก ระยะทางรวม 196 กิโลเมตร ใช้วงเงินลงทุนทั้งหมด 84,600 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 77,970 ล้านบาทและค่าเวนคืน 6,630 ล้านบาท

ความคืบหน้าล่าสุด การก่อสร้างงานโยธา 40 สัญญา มีความคืบหน้าเฉลี่ยมากถึง 70% แต่ตอนนี้งานโยธากลับต้องเจออุปสรรคจากหลายปัจจัย ทั้งสภาพพื้นที่จริงไม่สอดคล้องกับการออกแบบ, ต้องแก้ไขปัญหาให้ชุมชนในบางเส้นทาง, ต้องปรับแบบบางช่วงจากทางระดับพื้นดินเป็นทางยกระดับ รวมถึงต้องปรับแบบบริเวณที่ผ่านพื้นที่อ่อนไหวให้มีความรัดกุมเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น

การปรับแบบดังกล่าวจะใช้เงินเพิ่มขึ้น 5,000-6,000 ล้านบาท แม้วงเงินดังกล่าวยังอยู่ภาคใต้กรอบงบประมาณที่ได้รับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ก็ต้องเสนอให้ที่ประชุม ครม. รับทราบด้วย

มอเตอร์เวย์
ภาพจำลองด่านเก็บค่าผ่านทาง

ระบบเก็บเงินยังไม่คืบ

แม้งานโยธามีความคืบหน้าไปมากแล้ว แต่การลงทุนงานระบบ การดำเนินงาน และบำรุงรักษา (O&M) ที่เป็นหัวใจสำคัญอีกอย่างของมอเตอร์เวย์ยังล่าช้าอยู่มาก เพราะมีเหตุให้การประมูลโอแอนด์เอ็มต้องล่มไป 1 ครั้ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดประมูลโอแอนด์เอ็ม ด้วยรูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) เป็นครั้งที่ 2

นอกจากนี้ มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช ยังมีที่พักริมทาง (Rest Area) ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รวม 8 แห่งที่ถูกออกแบบอย่างทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ ซึ่งกรมทางหลวงจะต้องดำเนินการเปิดประมูลแบบพีพีพีต่อไป

มอเตอร์เวย์ บางปะอิน โคราช 1

เปิดบางส่วนปี 64 เปิดทั้งหมดปี 66

 อานนท์ เหลืองบริบูรณ์  อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ถ้าดูจากความคืบหน้าล่าสุดของโครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราชแล้ว งานโยธาก็น่าจะเสร็จในปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564

ด้านการประมูลงานระบบโอแอนด์เอ็มน่าจะได้ผู้รับเหมาปลายปีนี้และเริ่มงานในปี 2563 ซึ่งก็ต้องใช้เวลาลงทุนโอแอนด์เอ็มอีก 3 ปีจึงแล้วเสร็จ เท่ากับว่ามอเตอร์เวย์สายนี้จะเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในปี 2566

แต่เนื่องจากงานโยธาจะแล้วเสร็จก่อน เพราะฉะนั้นในช่วงปี 2564-2566 กรมทางหลวงก็อาจจะเปิดให้รถเล็กวิ่งได้บางช่วงตามความเหมาะสมและความจำเป็น เช่น ในช่วงเทศกาล แต่ที่สำคัญคือ“ต้องปลอดภัยและไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานโอแอนด์เอ็ม”

ขณะเดียวกันต้องบอกว่า การเปิดให้บริการล่วงหน้าคง “ไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการเดินทางแบบยาวๆ ตั้งแต่บางปะอินไปถึงโคราช” เพราะงานโยธาและงานระบบโอแอนด์เอ็มจะแล้วเสร็จเป็นช่วงๆ และเปิดให้บริการได้แค่ช่วงสั้นๆ ไม่ได้ยาวตลอดสาย จึงเหมาะกับการเดินทางของคนในท้องถิ่นมากกว่า

มอเตอร์เวย์ บางปะอิน โคราช 2

ค่าผ่านทางรถเก๋ง 25-240 บาท

สำหรับอัตราค่าผ่านของมอเตอร์เวย์สายนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทางหลวงเพิ่งเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา ตัวเลขค่าผ่านทางในช่วง 5 ปีแรกล่าสุด เป็นดังนี้

  • รถยนต์ไม่เกิน 4 ล้อ                           อัตรา 25-240 บาท
  • รถยนต์เกิน 4 ล้อ แต่ไม่เกิน 6 ล้อ        อัตรา 40-380 บาท
  • รถยนต์เกิน 6 ล้อขึ้นไป                       อัตรา 60-550 บาท

แม้ค่าผ่านทางนี้ จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าหลายคนคงยอมควักกระเป๋า เพื่อแลกกับเวลาที่ต้องเสียไปบนท้องถนน!

สำหรับความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโคราชจะเป็นอย่างไร ติดตามตอนถัดไปใน “The Bangkok Insight”  

Avatar photo