Economics

รอก่อน!! ไฮสปีดเทรนเส้นแรกช่วยลดวิกฤติ ‘ถนนมิตรภาพ’ (จบ)

หลังจาก The Bangkok Insight ได้อัพเดตความคืบหน้าของ “โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) บางปะอิน-โคราช” ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางไปจังหวัดนครราชสีมา (โคราช) นอกเหนือจากถนนมิตรภาพที่ติดหนึบในช่วงเทศกาลแล้ว

วันนี้เราจะมาอัพเดตระบบขนส่งสาธารณะ  จะเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางไปโคราชและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) อย่างต่อเนื่อง ทางเลือกใหม่ที่ว่านี้ก็คือ อภิมหาโปรเจค รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-โคราช นั่นเอง

 

ไทยจีน
โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรแรก ช่วงกลางดง-ปางอโศก

ไฮสปีดเทรนเส้นแรกของประเทศไทย

“รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-โคราช” เป็นรถไฟความเร็วสูงเส้นแรกที่เริ่มก่อสร้างในประเทศไทย โดยทำพิธีเริ่มต้นการก่อสร้างไปตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2560 แต่ตอนนี้ภาพรวมของโครงการก็ยังไม่คืบหน้ามากนัก

รถไฟความเร็วสูงสายนี้มีจุดเริ่มต้นที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีขนส่งหมอชิตและตลาดนัดจตุจักรในกรุงเทพฯ จากนั้นยิงยาวอีก 5 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา รวมทั้งหมดมี 6 สถานี ระยะทางรวม 252.5 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้างรวม 179,413 ล้านบาท

งานโยธาในโครงการนี้แบ่งเป็นทั้งหมด 14 สัญญา ตอนนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 สัญญา, ลงนามสัญญากับผู้รับเหมาและเตรียมเข้าพื้นที่ก่อสร้างอีก 1 สัญญา, ส่วน 12 สัญญาที่เหลืออยู่ระหว่างการประมูลหรือเตรียมเปิดประมูล คาดว่าจะได้ตัวผู้รับเหมาครบทั้งหมดไม่เกินไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ส่วนการก่อสร้างงานโยธาจะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2562-2565

ความคืบหน้าล่าสุด การประมูลงานโยธาอีก 2 สัญญา จากที่เหลือ 12 สัญญาใกล้แล้วเสร็จ โดยมีการเปิดให้เอกชนยื่นซองด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แล้วและเตรียมประกาศผลในเร็วๆ นี้ ได้แก่

  • สัญญาที่ 4-2 งานโยธาสำหรับช่วง ดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กิโลเมตร ราคากลาง 10,917 ล้านบท  มีผู้ยื่นซอง 6 ราย จากผู้ซื้อเอกสารประกวดราคา (TOR) ทั้งหมด 27 ราย โดยข้อเสนอด้านราคาต่ำสุดอยู่ที่ 8,626 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลาง 20%
  • สัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร – บ้านโพ ระยะทาง 23 กิโลเมตร ราคากลาง 13,293 ล้านบาท มีผู้ยื่นซอง 8 ราย จากผู้ซื้อทีโออาร์ทั้งหมด 29 ราย โดยข้อเสนอด้านราคาต่ำสุดอยู่ที่ 11,525 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลาง 13%

 

รถไฟความเร็วสูงไทย จีน 01 0

ดีดลูกคิดเจรจา ระบบอาณัติสัญญาณ-ขบวนรถ

ด้านงานระบบอาณัติสัญญาณและจัดซื้อขบวนรถ อยู่ในขั้นตอนการเจรจาต่อรองกับฝ่ายจีน ซึ่งผู้เกี่ยวข้องถึงกับออกปากว่าเรื่องนี้เป็นงานหิน เพราะประเทศไทยก็ไม่มีประสบการณ์ซื้อรถไฟความเร็วสูงมาก่อน และสัญญาก็มีรายละเอียดยิบย่อยเต็มไปหมด จึงต้องดูแล้วดูอีกให้รอบคอบ ทั้งเรื่องสเปครถ คุณภาพ ดอกเบี้ยเงินกู้ การการันตีสินค้า และการฝึกอบรม

กระทรวงคมนาคมก็อยู่ระหว่างเร่งรัดให้การเจรจาระบบอาณัติสัญญาณและขบวนรถแล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้เริ่มลงนามสัญญาและสั่งซื้อขบวนรถจากจีนเสียที แต่วงในก็แอบกระซิบมาว่า งานส่วนนี้ไม่ได้เร่งด่วนมากนัก อาจจะรอได้นานสุดถึงปี 2563  เนื่องจากในปี 2561 เปิดประมูลงานโยธาไปได้แค่สัญญาเดียว ส่งผลให้งานโยธาเริ่มล่าช้ากว่าเป้าหมาย การติดตั้งงานระบบจึงไม่ได้เร่งรีบมากนัก

คงเป้าหมายเปิดบริการปี 66

ถ้าคิดคร่าวๆ ว่าการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและสั่งซื้อขบวนรถเริ่มได้ในปี 2563 ก็จะต้องใช้เวลาติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณประมาณ 3 ปี

ในเวลาคู่ขนานกัน ฝ่ายจีนก็ผลิตขบวนรถใช้เวลาประมาณ 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง จากนั้นก็ต้องทดสอบวิ่งใช้เวลาครึ่งปี หรือมากกว่านั้น เพราะประเทศไทยไม่เคยมีรถไฟความเร็วสูงมาก่อน จึงต้องทดสอบให้มั่นใจก่อนเปิดให้บริการ

แต่ภาพรวมของโครงการขณะนี้ก็ยังไม่มีอะไรหลุดเป้ามากนัก จึงยังคงเป้าหมายจะเปิดให้บริการไว้ในปี 2566 ตามแผนเดิม

อัตราค่าโดยสารเบื้องต้น 01

ค่าโดยสาร 195-535 บาท

รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะทำความเร็วสูงสุดได้ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาวิ่งจากต้นทางไปถึงปลายทางประมาณ 1 ชั่วโมง 17 นาที และมีรถออกจากสถานีทุกๆ 90 นาที

ด้านอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 80 บาท บวกเพิ่มกิโลเมตรละ 1.8 บาท หรือคิดคร่าวๆ ว่าอัตราค่าโดยสารสถานีกลางบางซื่อไปสถานีอยุธยาอยู่ที่ 195 บาท, ถึงสถานีสระบุรีอยู่ที่ 278 บาท, ถึงสถานีปากช่องอยู่ที่ 393 บาท และถึงสถานีนครราชสีมา 535 บาท

ใครอยากลองของใหม่ ก็เตรียมควักกระเป๋าจ่ายค่าโดยสารได้ในปี 2566 (ถ้าไม่เลื่อน) จ้า!

Avatar photo