Economics

R&I คงอันดับความน่าเชื่อถือไทยที่ A- มุมมมองมีเสถียรภาพ จากนโยบายรักษาเสถียรภาพการคลัง

R&I คงอันดับความน่าเชื่อถือไทยอยู่ที่ A- มุมมมองความน่าเชื่อถือระดับมีเสถียรภาพ จากนโยบายรักษาเสถียรภาพการคลัง ชี้ท่องเที่ยวฟื้นตัว

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า วันที่ 21 ธันวาคม 2566 บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

R&I

โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวด้วยการขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย

โดยรัฐบาลมีมาตรการเชิงรุกต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะปานกลางถึงระยะยาว ขณะที่ภาคการส่งออกชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก

R&I

  1. แม้การขาดดุลทางการคลังจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนเกิดวิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ R&I เชื่อว่ารัฐบาลจะยังคงสามารถบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และยังมีพื้นที่ทางการคลังคงเหลือเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินนโยบายการคลัง
  2. ภาคการเงินต่างประเทศมีความแข็งแกร่งโดยดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2566 คาดว่า จะกลับมาเกินดุลและทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง
  3. ประเด็นที่ R&I ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ แนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังและการขยายฐานภาษี

เนื่องจากการลดลงของอัตราการเกิดและการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ อาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาระงบประมาณของประเทศในระยะยาว รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการเติบโตด้วยการยกระดับมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม (Upgrading Value Added) เนื่องจากประเทศไทยเผชิญความท้าทายกับการติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) และโครงสร้างประชากรแรงงาน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo