Economics

เร่งเสนอ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ตามมติเดิม เข้าครม.สัปดาห์หน้า ให้มีผล 1 ม.ค.67

เร่งเสนอ “ค่าแรงขั้นต่ำ” ตามมติเดิม เข้าครม.สัปดาห์หน้า เพื่อให้มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.67 เตรียมปรับสูตรคิดค่าแรงขั้นต่ำใหม่ เน้นประเภทกิจการเป็นสำคัญ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้าง ปี 2567 ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยึดตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเดิม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566

เนื่องจากสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างใช้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 เป็นสูตรที่คณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการฯจังหวัดทุกจังหวัดใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นการพิจารณาด้วยเหตุและผลบนข้อมูลเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงเห็นควรให้ปรับอัตราค่าจ้างด้วยความเหมาะสมและความเป็นจริง และเป็นการพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค เป็นธรรม และน่าเชื่อถือ

ค่าแรงขั้นต่ำ

เร่งนำเข้าครม.สัปดาห์หน้า ให้มีผล 1 ม.ค.67

โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราวันละ 2-16 บาท (เฉลี่ยร้อยละ 2.37) แบ่งเป็น 17 อัตรา โดยมีอัตราสูงสุดในจังหวัดภูเก็ต คือวันละ370 บาท และอัตราต่ำสุดในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา คือวันละ 330 บาท

ทั้งนี้ จะรีบนำเข้าครม.ในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด และให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

ค่าแรงขั้นต่ำ

ปรับสูตรคิดค่าแรงขั้นต่ำใหม่ เน้นประเภทกิจการเป็นสำคัญ

สำหรับข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คณะกรรมการค่าจ้างจะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงสูตรในการกำหนดอัตราค่าจ้างใหม่ ซึ่งเป็นการปรับสูตรในรอบ 6 ปี โดยวันที่  17 มกราคม 2567 จะลงนามแต่งตั้งอนุกรรมการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ และเมื่อได้สูตรใหม่แล้วจะเรียกประชุมบอร์ดค่าจ้างใหม่อีกครั้ง โดยคาดว่าในช่วงปี 2567 จะได้สูตรการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่  ซึ่งจะพิจารณาในประเภทกิจการเป็นสำคัญ เช่น การท่องเที่ยว บริการ ซึ่งอาจเป็นประเด็นหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาปรับสูตร

ค่าแรงขั้นต่ำ

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2567 ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดบนพื้นฐานของความเสมอภาคและการหารือของแต่ละจังหวัด และการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นการปรับเพื่อให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น โดยพิจารณาบนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo