Economics

รัฐบาลรับทราบมติไตรภาคีคงขึ้นค่าแรงตามเดิม แต่เชื่อ ‘เศรษฐา’ ไม่หยุดแค่นี้!

“โฆษกรัฐบาล” รับทราบมติไตรภาคีคงขึ้นค่าแรงตามเดิม เชื่อ “เศรษฐา” ไม่หยุดแน่ เดินหน้าปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ลั่นผู้ประกอบการต้องปรับตัว

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 ตามมติเดิมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมไปก่อนว่า รัฐบาลเข้าใจว่า สิ่งไหนจะสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง ทั้งนี้ในฐานะรัฐบาลสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยในช่วงเลือกตั้งก็ได้มีการหาเสียงไว้ ดังนั้น รัฐบาลมีสิทธิ์รับฟังความคิดเห็น ซึ่งคณะกรรมการที่มีหน้าที่ตามกฏหมายจะเห็นด้วยกับรัฐบาลก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ไปแทรกแซงไม่ได้

ขึ้นค่าแรง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะไม่หยุดแสดงความคิดเห็น โน้มน้าว เพราะเรื่องแบบนี้สามารถจะพูดคุยกันได้ ดังนั้น ไม่มีข้อบังคับไหน ที่ระบุว่า ปีหนึ่งให้พิจารณาการขึ้นค่าแรงเพียงครั้งเดียว หากผ่านไปแล้วสักระยะ เมื่อคณะกรรมการมีการทบทวนหรือพิจารณาใหม่อีกครั้งภายในปีเดียวกันก็ได้ ซึ่งถือว่าโอกาสมีอยู่เสมอ

โฆษกรัฐบาล ยืนยันว่า ในเรื่องนี้เป็นไปตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุไว้ออกมาจากใจจริงว่า ไม่เห็นด้วยในการขึ้นค่าแรง 2 บาท ใน 3 จังหวัดภาคใต้ แม้แต่ไข่ไก่ ไข่ต้มครึ่งฟองยังซื้อไม่ได้เลย ดังนั้น หากถามว่า น้อยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีก็มองว่า น้อยมาก ๆ และในแง่ของการครองชีพของภาคแรงงาน ค่าแรงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และคำนวณขึ้นค่าแรงล่าสุด 300 บาทที่ผ่านมา เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 จนถึงปัจจุบันนี้ ค่าแรงขึ้นมาสูงสุดในรอบ 10 ปี ไม่เกิน 20 % ซึ่งนายกรัฐมนตรีเปรียบเทียบว่า หากลูกหลานของทุกคนที่จบการศึกษาต่างประเทศ แล้วสตาร์ทเงินเดือนที่ 30,000 บาท ทำงานไป 12 ปี ได้ค่าจ้าง 36,000 บาท จะรู้สึกอย่างไร ซึ่งหลายคนก็ระบุว่า ไม่ไหวถ้าเป็นเช่นนี้

ดังนั้น แรงงานจะแย่กว่าใช่หรือไม่ ซึ่งเมื่อแรงงานทำงานไป 12 ปี ธรรมดาคนรายได้ต่ำเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าแรงต้องสูง คนรายได้สูงเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าแรงต้องต่ำ เพราะฐานเงินเดือนที่ใหญ่ แต่นี้กับกลับกันคนมีรายได้สูง ถ้า 10-11 ปี รายได้เพิ่มขึ้น ได้ 20 % แล้วไม่ไหว ขณะที่พี่น้องแรงงานจะไหวได้อย่างไร

ขึ้นค่าแรง

ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่า ตรรกะนายกรัฐมนตรี มองในเชิงการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเห็นเลยว่า มีช่องว่างและมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ผู้ใช้แรงงานที่มีรายต่ำอยู่แล้ว แล้วขึ้นค่าแรงในจำนวนที่น้อย นายกรัฐมนตรีมีสิทธิ์ที่แสดงความคิดเห็น แต่นายกรัฐมนตรีรู้ดีว่า จะไปหักหานกันไม่ได้เพราะมีกฏหมายกำหนดไว้ การแสดงความเห็นเป็นส่วนหนึ่ง การเคารพกฏหมายก็ต้องปฏิบัติตาม แต่เรื่องนี้เชื่อว่า

“นายกรัฐมนตรีจะไม่หยุดแค่นี้ คงจะมีการขับเคลื่อนต่อ ซึ่งไม่ใช่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ส่วนตัวเชื่อว่า ในคณะรัฐมนตรีก็เห็นคล้อยตามนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะค่าแรงขั้นต่ำของไทยเกินกว่าตัวเลขที่ศึกษาวิจัย ว่า คนหนึ่งคนเวลาทำงานมีครอบครัว มีลูกหนึ่งคน ขั้นต่ำหนึ่งวันต้องมีรายได้ 560 บาทต่อวัน แต่ค่าแรงกลับห่างไกลมาก จึงเกิดปัญหาทำงานล่วงเวลา (โอที) ทั้งพ่อและแม่ จนไม่มีเวลาดูลูก และนำมาซึ่งปัญหาสังคม ส่วนตัวจึงเข้าใจว่า ศักยภาพภาคธุรกิจไทย ถ้าบอกว่า ค่าจ้างสูงกว่านี้ไม่ไหว แปลว่า ต้องทบทวนศักยภาพธุรกิจที่ไม่มีความสามารถพอ ที่จะทำธุรกิจและสร้างรายได้มากพอที่จะดูแลคนทำงานได้อย่างมีความสุข ดังนั้นภาคธุรกิจต้องปรับตัว โดยจะมาบอกว่า ทำได้เท่านี้และให้แรงงานมาเสียสละ ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง” นายชัย กล่าว

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการคิดว่า ขึ้นค่าแรงแล้วจะทำให้ธุรกิจของตนเองอยู่ไม่ได้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า คนอื่นที่อยู่ในวงการเดียวกันอาจอยู่รอดได้ เมื่อหายไปหนึ่งเจ้าก็อาจมีเจ้าอื่นมาทดแทน และพร้อมจ่ายค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงอย่าได้กังวลว่า ค่าจ้างสูงแล้วธุรกิจอยู่ไม่ได้ และมีแรงงานตกงาน ส่วนตัวไม่เชื่อเช่นนั้น ยืนยันว่า แรงงานจะไม่ตกงาน เพราะมีความต้องการของสินค้าอยู่ และเชื่อว่า จะมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่จะอยู่รอดและเติบโตขึ้นมา ในรูปแบบสามารถที่บริหารธุรกิจ และจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำได้สูง

ขึ้นค่าแรง
นายเศรษฐา ทวีสิน

เมื่อถามว่า จะเป็นการผลักผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า หากย้ายฐานการผลิตก็จะเกิดช่องว่างของตลาด คนที่อยู่ในนี้ก็จะเข้ามาแทนที่ และต่างประเทศก็จะเจอปัญหาเช่นกัน และย้ำว่า ธุรกิจทุกอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าแรงเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของเส้นทางคมนาคมขนส่ง ความเสถียรของไฟฟ้า ซึ่งยังมีปัจจัยอื่นอีกมาก ดังนั้นส่วนตัวไม่ห่วง เพราะหากถอยออกไปก็จะมีคนที่อยู่ได้ และมีการขยายตัวเข้ามาแทนที่

“ภายหลังที่ตนเองได้ทราบข่าว บางครั้งสื่อจะนำเสนอทำนองว่า นายจ้างอยู่ไม่ได้และจะมีการย้ายฐานการผลิต ซึ่งสามารถทำได้ เพราะหากย้ายไปตลาดก็ไม่หายไป ตลาดที่เคยค้าขายอยู่ยังมีช่องว่าง และยังมีผู้เล่นที่จะขยายเข้ามากินตลาดนี้ ดังนั้นประเทศไม่เสียหาย จึงขออย่าห่วง สุดท้ายจะถูกคัดคนไม่มีคุณภาพออกไป ซึ่งประเทศอื่นที่เจริญแล้ว จ่ายค่าแรงหลายพันบาท ทำไมถึงจ่ายได้ เพราะว่า เขามีผู้ประกอบการที่มีความสามารถเช่นประเทศมาเลเซีย และสิงค์โปร์ แล้วทำไมธุรกิจถึงไม่เจ๊ง ซึ่งขอถามกลับ” นายชัย กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK