Economics

สนค. วิเคราะห์ 6 กลุ่มสินค้าตามศักยภาพส่งออก พร้อมแนะกลยุทธ์ทำตลาด ดันยอดเพิ่มขึ้น

สนค. วิเคราะห์ 6 กลุ่มสินค้าตามศักยภาพส่งออก พร้อมแนะกลยุทธ์ทำตลาด ดันยอดเพิ่มขึ้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาศักยภาพสินค้าส่งออกของไทย โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มสินค้า

พบว่า มี 3 กลุ่ม คือ ดาวรุ่งพุ่งแรง สวนกระแส และตั้งรับปรับตัว ซึ่งเป็นกลุ่มที่การส่งออกมีศักยภาพเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และ 3 กลุ่ม คือ คว้าไม่ทัน เสียโอกาส และถอยนำ มียอดการส่งออกลดลงจากภาวะการตลาดที่เผชิญอยู่ จึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การตลาด เพื่อผลักดันให้ไทยส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น

สนค.

กลุ่มสินค้าดาวรุ่งพุ่งแร

สำหรับกลุ่มดาวรุ่งพุ่งแรง เป็นกลุ่มสินค้าที่ตลาดโลกมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นและไทยสามารถส่งออกได้ในอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของโลก เช่น วงจรรวม เครื่องปรับอากาศ เครื่องโทรศัพท์ แผงควบคุมหรือจำหน่ายไฟฟ้า เนื้อไก่ตัดแต่ง ทุเรียนสด ซอสปรุงรส และหอยนางรมแช่แข็ง

  • จะต้องเร่งขยายสายผลิตภัณฑ์ผ่านชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์เดิม และขยายกิจการสู่ธุรกิจปลายน้ำหรือธุรกิจในช่วงปลายของห่วงโซ่อุปทาน ส่วนสินค้าที่ยังมีส่วนแบ่งในตลาดโลกน้อย แต่เริ่มส่งออกได้มากขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น จะต้องสร้างการรับรู้สินค้าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยการเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น

สินค้ากลุ่มสวนกระแส

กลุ่มสวนกระแส เป็นกลุ่มสินค้าที่มีการค้าขายในโลกลดลง แต่อัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยกลับมากกว่าโลก สวนทางประเทศอื่น ๆ เช่น ทองคำ ยางรถยนต์ รถยนต์นั่ง (ดีเซล) เครื่องพิมพ์ น้ำตาลอ้อย เนื้อไก่แช่แข็ง และน้ำมันปาล์ม

  • จะต้องสร้างพันธมิตรทางการค้าเพื่อเจาะตลาดเพิ่ม และหาแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าแต่ละประเภท
สนค.
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

สินค้ากลุ่มตั้งรับปรับตัว

กลุ่มตั้งรับปรับตัว เป็นกลุ่มสินค้าที่มีการค้าขายในโลกลดลง โดยที่ไทยยังครองอัตราการเติบโตได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ โดยความต้องการที่ชะลอลงอาจเป็นสัญญาณที่จะกระทบต่อการส่งออกในอนาคต เช่น ชิ้นส่วนวิทยุ ปั๊มเชื้อเพลิง ไดโอดเปล่งแสง เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด และชาสกัดเข้มข้น

  • จะต้องปรับกลยุทธ์การตลาด เจาะกลุ่มตลาด Niche Market ให้มากขึ้น และปรับกลยุทธ์การดำเนินงานและการผลิตสินค้าตามเทรนด์การบริโภคใหม่ ๆ

สินค้ากลุ่มคว้าไม่ทัน

กลุ่มคว้าไม่ทัน เป็นกลุ่มสินค้าที่ตลาดโลกมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่ไทยยังส่งออกเพิ่มขึ้นได้น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น ชุดสายไฟจุดระเบิด มาตรวัดความเร็ว ถั่วเปลือกแข็ง และหอยลายแปรรูป

  • จะต้องรักษาฐานลูกค้าเดิม ส่งเสริมการทำวิจัยตลาด และส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและเทคโนโลยี

สนค.

สินค้ากลุ่มเสียโอกาส

กลุ่มเสียโอกาส เป็นกลุ่มสินค้าที่ตลาดโลกมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นแต่ไทยกลับส่งออกได้น้อยลง ขณะที่ประเทศอื่น ๆ กลับเพิ่มการส่งออกได้มากขึ้น เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ รถยนต์นั่งสันดาป ข้าว ปลาทูน่า และกุ้งแช่แข็ง

  • จะต้องเร่งลดอุปสรรคทางการค้าและเพิ่มความสามารถสามารถในการแข่งขันให้เแก่สินค้าไทยผ่านการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เร่งทบทวนความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว และสนับสนุนการพัฒนาการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง ให้มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของสากล

สินค้ากลุ่มถอยนำ

กลุ่มถอยนำ เป็นกลุ่มสินค้าที่ตลาดโลกมีความต้องการนำเข้าลดลง ไทยส่งออกได้ลดลงตามความต้องการนำเข้าของตลาดโลกที่ลดลง อีกทั้งการส่งออกไทยยังลดลงมากกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น ยานยนต์สำหรับส่งของ ยางธรรมชาติ มันสำปะหลัง สับปะรด เป็นต้น

  • จะต้องรักษาความเป็นผู้นำตลาดผ่านการเจรจาแก้ไขอุปสรรคทางการค้า ส่วนสินค้าที่การส่งออกลดลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีส่วนแบ่งในตลาดโลกน้อย ต้องปรับหรือชะลอกระบวนการผลิตในสินค้าที่มีอุปสงค์ในตลาดโลกลดลง และ Re-Branding สินค้าเดิม

shutterstock 1956141907

โดยรวมสินค้าไทยยังมีศักยภาพในการส่งออก

สำหรับการประเมินศักยภาพการส่งออกสินค้าของไทยดังกล่าว ใช้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบ(Revealed Comparative Advantage : RCA) โดยเปรียบเทียบข้อมูลการส่งออกสินค้าใน 2 ช่วงเวลา ได้แก่ เฉลี่ย 5 ปีล่าสุด (ปี 2561–2565) เทียบกับเฉลี่ย 5 ปีก่อนหน้า (ปี 2556–2560) พบว่า มูลค่าของสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก (RCA > 1) มีสัดส่วนถึง 82.7% ของการส่งออกรวม เป็นสินค้าอุตสาหกรรม 66.2% และสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร 13.7%

และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนหน้า พบว่า อัตราการขยายตัวของมูลค่าสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกมากขึ้นถึง 19.1% สะท้อนว่าสินค้าส่งออกของไทยได้ปรับตัวให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังได้ประเมินสถานการณ์ทางการตลาดของการส่งออกสินค้าของไทย โดยใช้พลวัตการเปลี่ยนแปลงระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้า (Dynamics Revealed Comparative Advantage : DRCA) แบ่งกลุ่มสถานการณ์ทางการตลาดที่ไทยเผชิญออกเป็น 6 กลุ่มสถานการณ์ตามผลที่ออกมาข้างต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo