Economics

เวิลด์แบงก์ หั่น ‘จีดีพีไทย’ ปี 66 โตแค่ 3.4% เจอ ‘ส่งออกหดตัว’ กดดัน

“ธนาคารโลก” หั่น “จีดีพีไทย” ปี 2566 คาดโต 3.4% จากเดิมที่ประเมินว่าจะขยายตัว 3.6% ระบุ “ส่งออกหดตัว” กดดันการเติบโต แม้จะมีแรงหนุนจาก การฟื้นตัวของ “ท่องเที่ยว” และ “บริโภคภาคเอกชน” ที่แข็งแกร่ง

วันนี้ (2 ต.ค.) ธนาคารโลก ออกรายงานประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออก และแปซิฟิกฉบับล่าสุด โดยได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไทย ในปี 2566 ลงเหลือ 3.4% จากที่เคยประเมินไว้ในเดือนเมษายนที่ 3.6% และเหลือ 3.5% ในปี 2567 จากเดิมที่  3.7%

จีดีพีไทย

รายงาน ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงตามหลังประเทศในกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยอัตราการเติบโตดังกล่าว นับเป็นตัวเลขที่เกือบต่ำสุดในภูมิภาค เป็นรองเพียงแค่เมียนมา ที่เติบโตได้ 3.0% เท่านั้น

อย่างไรก็ดี แม้คาดว่าจีดีพีของไทยในปีหน้า 2567 จะโตขึ้นได้เพียงเล็กน้อย แต่ก็ยังเติบโตได้ เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ที่คาดว่าจะเติบโตลดลง โดยเฉพาะ “จีน” ที่คาดว่าจะเติบโต 5.1% ในปีนี้ ก่อนจะชะลอตัวลง 4.4% ในปีหน้า

ธนาคารโลกชี้ว่า แม้เศรษฐกิจไทย จะมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง โดยในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้าไทยนั้น คาดว่าจะกลับมาเทียบเท่ากับระดับก่อนเกิดโควิดได้ภายในสิ้นปี 2567

แต่ไทยยังเจอกับแรงกดดันด้านการส่งออก โดยธนาคารโลก คาดว่า การส่งออกของไทยจะหดตัวลง 2.1%

จีดีพีไทย

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้น คาดว่า ในปี 2566 จะอยู่ในระดับปานกลาง 1.5% ต่ำกว่าตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ และปี 2567 จะลดลงไปที่ 0.7%  แต่ยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะเพิ่มขึ้น จากผลของราคาอาหารโลกพุ่งสูงขึ้น รวมทั้งการอุดหนุนด้านราคาพลังงาน

ขณะที่คาดว่าหนี้สาธารณะในปีนี้ จะยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 60% และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จะกลับมาเป็นบวกได้ในปีนี้ ที่ 0.5% ต่อจีดีพี จากที่เคยขาดดุลติดต่อกันมา 2 ปี ในปี 2564 และ 2565

สำหรับ จีดีพีของเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกโดยรวมนั้น ธนาคารโลก ปรับลดลงมาอยู่ที่ 5% จากเดิมที่ 5.1% ส่วนในปีหน้าจะเติบโตได้ 4.5% จากคาดการณ์เดิม 4.8% โดยอ้างถึงจีน และอุปสงค์ทั่วโลกที่ซบเซา ในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยยังทรงตัวในระดับสูง และการค้าชะลอตัวลง

Avatar photo