Economics

เปิดละเอียด!! คำสั่ง ‘ศาลปกครองสูงสุด’ รื้อคดี ‘โฮปเวลล์’ ค่าโง่ 2.4 หมื่นล้าน

เปิดละเอียด คำสั่งศาลปกครองสูงสุด สั่งรื้อคดี “โฮปเวลล์” จ่ายค่าโง่ 24,000 ล้านบาท กลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่

วันนี้ (4 มี.ค.) ศาลปกครองกลาง อ่านคำสั่ง ศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 107/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366/2557 ระหว่าง กระทรวงคมนาคม ที่ 1 กับพวก รวม 2 คน (ผู้ร้อง) กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้คัดค้าน)  ในคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา โดยมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ (คดีโฮปเวลล์) ไว้พิจารณา

โฮปเวลล์

สั่งรื้อคดีโฮปเวลล์ 

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ (คดีโฮปเวลล์) ไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งในคดีคำร้องที่ 394-396/2565  ระหว่าง กระทรวงคมนาคม ผู้ร้องที่ 1 และ การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ร้องที่ 2 กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน

อันเป็นคดีที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ไว้พิจารณา โดยอ้างว่า การนับระยะเวลา หรืออายุความในการยื่นข้อเรียกร้องของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่ออนุญาโตตุลาการในคดีนี้

ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รู้ หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี คือ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่หนังสือบอกเลิกสัญญาของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ไปถึงบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด  มิใช่นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 อันเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ

กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เห็นว่า ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่กล่าวอ้างเข้าหลักเกณฑ์ และองค์ประกอบการพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 (1) (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

กรณีในคดีนี้ สืบเนื่องมาจากศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดง ที่ อ.221-223/2562 ให้ยกคำร้องของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกัน หรือแทนกันชดใช้ค่าตอบแทนตามสัญญาสัมปทาน จำนวน 2,850,000,000 บาท

คืนหนังสือค้ำประกัน และค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน จำนวน 38,749,800 บาท กับเงินที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้ในการก่อสร้างโครงการ จำนวน 9,000,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า แม้ว่าที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เคยมีมติในคราวประชุมใหญ่ ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ว่า

ในกรณีที่เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดขึ้น ก่อนศาลปกครองเปิดทำการ แต่ผู้ฟ้องคดีมิได้นำคดีไปฟ้องต่อศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในขณะนั้น ต่อมา หลังจากที่ศาลปกครองเปิดทำการ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 แล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยขณะที่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง อายุความฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมยังไม่ครบกำหนด

แต่การนำคดีดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลปกครองนั้น จะเป็นการฟ้องคดีปกครอง เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 มาตรา 50 หรือมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แล้วแต่กรณี  ในกรณีเช่นนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการเป็นต้นไป ก็ตาม

โฮปเวลล์

ต่อมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีนี้ โดยวินิจฉัยว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รู้ว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 อันเป็นวันที่ได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญา จากกระทรวงคมนาคม

เมื่อสัญญาระหว่างคู่พิพาท ไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้โดยเฉพาะ การเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จึงกระทำได้ภายในอายุความการฟ้องคดีต่อศาล

เมื่อข้อพิพาทได้เกิดขึ้นก่อนที่ศาลปกครองเปิดทำการ การนับอายุความการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มีนาคม 2544

เมื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 อันเป็นการยื่นภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา ข้อพิพาทนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่เสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาโดยชอบแล้ว

จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา โดยอาศัยข้อกฎหมายกรณีการเริ่มนับระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ โดยไม่ได้เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

แต่เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 แม้ว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว จะไม่ได้ระบุถึงมติที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวโดยตรง แต่ก็เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ ตามที่กำหนดในมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 

ต่อมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่า มติของที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ฯ เกี่ยวกับการเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และโดยที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 211 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ดังนั้น การที่ศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าว มีคำพิพากษา โดยเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตามแนวทางที่กำหนด โดยมติที่ประชุมใหญ่ฯ แล้วต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกรณีที่ข้อกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุด ใช้ในการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

โฮปเวลล์

ซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงชอบที่จะขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ได้ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 

แม้ว่ามาตรา 212 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะบัญญัติไว้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว เว้นแต่ในคดีอาญา ให้ถือว่าผู้ซึ่งเคยถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยมาตรา 5นั้น เป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิดดังกล่าว หรือถ้าผู้นั้นยังรับโทษอยู่ก็ให้ปล่อยตัวไป แต่ทั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะเรียกร้องค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใด ๆ

ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้างต้น คงมีความหมายแต่เพียงว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า บทบัญญัติใดของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลทำให้คำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้ว ซึ่งทำขึ้นโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายนั้น เป็นคำพิพากษาที่ใช้บังคับมิได้หรือต้องสิ้นผลบังคับผูกพันลงเท่านั้น

ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2564 ที่วินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีผลทำให้คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 หมายเลขแดงที่ อ. 221-223/2562  ซึ่งทำขึ้นโดยอาศัยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ใช้บังคับมิได้ หรือต้องสิ้นผลบังคับผูกพันลง

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้างต้น มิได้มีผลเป็นการห้ามมิให้คู่กรณี หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 หมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 นำผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2564 มาใช้เป็นข้ออ้างในการขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีนี้ใหม่ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่อย่างใด

ศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo