Economics

‘อนุทิน’ ชู ‘Medical Hub’ จูงใจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หวังสร้างรายได้กว่าหมื่นล้านบาท

‘อนุทิน’ ยินดีต่างชาติเที่ยวไทยทะลุ 10 ล้านคน ชู ‘Medical Hub’ จูงใจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หวังสร้างรายได้กว่าหมื่นล้านบาท

วันนี้ (13 ธันวาคม 2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยครบ 10 ล้านคน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่ายินดี แสดงให้เห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามามากขึ้น จากเดิมช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 และประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

Medical Hub ศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร

หลังสถานการณ์โรคโควิด 19 คลี่คลายลง ได้ใช้แนวคิด Health for Wealth เป็นนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข คือ ใช้สุขภาพสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ หนึ่งในนั้นคือนโยบาย Medical Hub ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง อุตสาหกรรมทางการแพทย์ครบวงจร และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ซึ่งปี 2564 Medical Tourism Association จัดอันดับให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยติดอันดับ 5 ของโลก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยได้รับการยอมรับ คือ

ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

  1. แพทย์ไทยมีศักยภาพและมีชื่อเสียงในหลากหลายสาขาเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
  2. ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านคุณภาพและมาตรฐานการรักษาระดับสากล
  3. ค่ารักษาพยาบาลสมเหตุสมผล
  4. ค่าครองชีพไม่สูงมาก เหมาะแก่การพำนักรักษาตัวและพักฟื้นร่างกายในระยะยาว
  5. ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น มาตรการขยายเวลาพำนักในไทยกรณีเข้ามารักษาพยาบาล การเพิ่มประเภทวีซ่ารักษาพยาบาล (Medical Visa) Non-MT ชนิดใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Multiple Entry) คราวละไม่เกิน 1 ปี (อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด)
  6. มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ Wellness ทั้งการนวดไทย สปา ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่มีส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวและรายได้เข้าประเทศไทยมากขึ้น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ต่างชาติเข้ามารักษาพยายาลในไทย มูลค่ากว่าหมื่นล้าน

ด้าน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ปี 2563 และ 2564 ที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำรวจข้อมูลจากสถานพยาบาล 30 แห่ง พบว่า ปี 2564 รายรับค่ารักษาพยาบาลจากชาวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาเพื่อรักษาพยาบาลประมาณ 11,903 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2563 ประมาณ 47%

ประเทศที่เข้ามารักษาพยาบาลมากที่สุด 5 อันดับ คือ คูเวต กัมพูชา เมียนมา ญี่ปุ่น และจีน ส่วน 5 อันดับกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยเข้ามารักษามากสุด ได้แก่ การตรวจสุขภาพ กระดูกและข้อ ระบบหัวใจและหลอดเลือด เมตาบอลิก และทันตกรรม ตามลำดับ ส่วนกลุ่มโรคที่สร้างรายได้มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ หัวใจและหลอดเลือด เมตาบอลิก มะเร็ง กระดูกและข้อ และระบบประสาทวิทยา

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำรวจข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติ ระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2565 พบว่า กิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ การรับประทานอาหารไทย 90.57% นวดและสปา 48.23% กิจกรรมชายทะเล 48.12% และท่องเที่ยวสถานที่ทางประวัติศาสตร์ 46.22% ส่วนการท่องเที่ยวพร้อมการตรวจสุขภาพ จัดอยู่ในลำดับที่ 16 สำหรับด้านค่าใช้จ่าย พบว่า กลุ่มที่ท่องเที่ยวพร้อมตรวจสุขภาพ มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 35,074 บาท/คน/ทริป

ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

เพิ่มสิทธิเอื้อท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

นพ.สุระ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีการสร้างระบบให้เอื้อต่อชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวระยะยาว และรักษาพยาบาลในประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่าย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย โดยขยายระบบวีซ่าพิเศษ

เช่น การขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (non-immigrant) รหัส O-A (Long Stay) การเพิ่มเติมกลุ่มประเทศเป้าหมายการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล 90 วัน สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม รวมไม่เกิน 4 ราย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

มีนโยบาย Long Stay Visa รหัส Non-O-X ระยะ 10 ปี ได้แก่ เกาหลี เบลเยียม ออสเตรีย และนิวซีแลนด์ และการขยายเวลาพำนักในประเทศไทยรวม 90 วัน ในกรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาล สำหรับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV) และจีน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo