Economics

กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 66 ยังโตต่อเนื่อง รับห่วงขึ้นค่าแรง 600 บาท

กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 66 ยังโตต่อเนื่อง คาดจีดีพีโต 3-3.5% รับห่วงค่าไฟงวดใหม่แพงซ้ำเติมการฟื้นตัว-นโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาททำต่างชาติหาย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจปี 2566 โดยคาดจีดีพีขยายตัว 3-3.5% จากปี 2565 ที่คาดว่าจะโต 3.2% การส่งออกขยายตัว 1-2% จากปี 2565 ที่คาดว่าจะโต 7.25% ส่วนเงินเฟ้อ 2.7-3.2% จากปี 2565 ที่ 6.2%

กกร. 712651

ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 66

ทั้งนี้ มาจากปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก ในขณะที่มีข้อจำกัดของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและการปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจปี 2565 เป็นไปตามกรอบที่ประเมินไว้จากอานิสงส์ส่งออก และการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว แต่ส่งออกเริ่มมีผลกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักชะลอที่ทำให้เดือนตุลาคมหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน ดังนั้นปี 2566 เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากภาวะเงินตึงตัว และเงินเฟ้อจึงกระทบต่อการส่งออกไทยที่จะชะลอตัวในระยะต่อไป

เศรษฐกิจไทยปี 66
นายสนั่น อังอุบลกุล

ท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจไทยปี 66

ดังนั้น เศรษฐกิจไทยหน้า จะเหลือภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากกว่า 20 ล้านคนเศรษฐกิจจึงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่และยังมีสัญญาณเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม กกร. ได้หารือถึงประเด็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังคววามเห็นการปรับขึ้น 3 แนวทางตั้งแต่ 158-224 สตางค์ต่อหน่วย (เพิ่มขึ้น 14-28%) นี้ โดย กกร. มองว่าการปรับขึ้นค่าไฟจะเป็นการกระทบรุนแรงต่อค่าครองชีพและต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ทั้งภาคการผลิต และภาคการบริการที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจ

ดังนั้น กกร. จึงเสนอให้รัฐพิจารณาชะลอการปรับค่า Ft ของเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ออกไปก่อน โดยจะทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงานเพื่อขอให้คงค่าไฟเฉลี่ยไว้ที่ปัจจุบัน 4.72 บาทต่อหน่วย

เศรษฐกิจไทยปี 66
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

หวั่นค่าไฟแพง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร. มีความกังวลค่าไฟที่จะปรับขึ้นในงวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย.66) ที่มีการขึ้นต่อเนื่องซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตและทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยให้มีโอกาสลดลงได้อีกจากปี 2565 ที่ไทยถูกจัดอันดับขีดแข่งขันลดลง 5 อันดับมาอยู่ที่ 33 ของโลก

ทั้งนี้ เนื่องจากค่าไฟหากเทียบกับคู่แข่งทางการค้า เช่น เวียดนามพบว่ามีค่าไฟอยู่เพียง 2.88 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ซึ่งนั่นยังไม่รวมกับข้อได้เปรียบอื่น ๆ ของเวียดนาม เช่น มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA มากกว่าไทย ฯลฯ ขณะเดียวกันค่าไฟที่เพิ่มจะทำให้การดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยลดความน่าสนใจลงอีกด้วย

ห่วงค่าแรง 600 บาท

นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเด็นร้อน คือ เรื่องค่าแรง ที่พรรคการเมืองได้ประกาศนโยบายหาเสียงขึ้นค่าแรง 600 บาทต่อวันและปริญญาตรีเป็น 25,000 บาทต่อเดือน นายสนั่น กล่าวว่า กกร.เห็นว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมาที่มีคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีพิจารณามีความเหมาะสมแล้ว เพราะเป็นการคำนึงถึงการครองชีพของลูกจ้าง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ ราคาสินค้า ความสามารถของนายจ้าง ณ เวลานั้น ๆ ที่จะมีความสมดุล โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดมากนัก

เศรษฐกิจไทยปี 66
นางผยง ศรีวณิช

ทั้งนี้ กกร. เห็นด้วยว่าต้องมีการปรับขึ้นค่าแรง แต่ก็ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมการขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาท จากปัจจุบันที่ค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ 328-354 บาทต่อวัน ถึงแม้ว่าจะเป็นการทยอยขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นเท่าตัว เมื่อรวมกับค่าต่าง ๆ ที่ต้องจ่ายจะทำให้เพิ่มอีกเกือบ 70% ทำให้ภาคธุรกิจอาจปรับตัวไม่ทัน อีกทั้งปัจจุบัน SME ยังมีปัญหาด้านรายได้และสภาพคล่องในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อสูงทั่วโลก และมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

ดังนั้น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้ SME หยุดหรือยกเลิกกิจการเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คงต้องมีการทบทวนแผนการจ้างงาน การชะลอการลงทุนในระยะสั้น หรือแม้แต่การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้แทนแรงงาน รวมถึงการลงทุนตรงจากต่างประเทศที่อาจชะลอลงเพราะต้นทุนค่าแรงของไทยสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

ด้านนางผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ยอมรับว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะเพิ่มขึ้นตามทิศทางของการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ขณะนี้อยู่ที่ 1.25% อย่างไรก็ตาม จากการที่พบว่ามีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางกว่า 3 ล้านรายทุกภาคส่วนยังคงเดินหน้าจัดมหกรรมแก้หนี้ทั่วประเทศ โดย 16-18 ธันวาคมนี้จะจัดที่จ.เชียงใหม่ และในปีหน้าจะมีการจัดงานที่จ.ชลบุรีและหาดใหญ่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo