COVID-19

‘สภาพัฒน์’ เปิดไส้เงินกู้สู้โควิด 1 ล้านล้าน ล่าสุดเหลือติดกระเป๋า 2 แสนล้าน

“สภาพัฒน์” เปิดไส้ เงินกู้ สู้โควิด 1 ล้านล้าน ล่าสุดเหลือติดกระเป๋า 2 แสนล้าน เตรียมดึงงบเบิกจ่ายล่าช้ามาจัดสรรใหม่ 

วันนี้ (15 ก.พ.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการใช้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทว่า ล่าสุดวงเงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน บาท เหลืออีกแค่ 2 แสนล้านบาท ในส่วนวงเงินเพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เงินกู้ 1 ล้านล้าน

สำหรับภาพรวมการเบิกจ่ายคืบหน้าแล้ว 55% โดยเงินกู้ในส่วนของการเยียวยาใช้ครบแล้ว 5.5 แสนล้านบาท ส่วนวงเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทนั้น เบิกจ่ายได้ประมาณ 30% ส่วนใหญ่นำไปใช้ในโครงการคนละครึ่ง แต่ในส่วนโครงการลงทุนเบิกจ่ายได้เพียง 10% ซึ่งถือว่าน้อยมาก

ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มี สภาพัฒน์ เป็นประธาน จะติดตามการใช้จ่ายเงินของทุกหน่วยงานภายในเดือนมีนาคมนี้ หากพบว่ามีหน่วยงานใดเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามแผนที่เสนอ ก็จะต้องดึงวงเงินในส่วนที่เบิกจ่ายไม่ทันกลับมาส่วนกลาง เพื่อใช้กับมาตรการเยียวยาอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อไป โดยโครงการลงทุนตามแผนฟื้นฟูต้องอนุมัติภายในเดือนกันยายนและเบิกจ่ายได้ถึงสิ้นปี 2564

นายดนุชา กล่าวต่อว่า โครงการที่มีปัญหาในการเบิกจ่ายล่าช้า เช่น โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ อนุมัติ 9,000 ล้านบาท ก็ทำได้ 4,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือก็ดึงกลับมา, โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท เป้าหมาย 2.6 แสนราย ก็จ้างได้แค่ 1 หมื่นคน ก็ต้องตัดกลับมาดูใหม่ หรือกรณีเบิกจ่ายตาม พ.ร.บ.ถ่ายโอนงบประมาณ ส่งผลให้มีกว่า 200 โครงการทำไม่ทัน เสนอแผนปรับใช้เงินกู้ ซึ่งเรื่องนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองเร่งทยอยแก้ไข และเบิกจ่ายได้ไปเกือบหมดแล้ว

shutterstock 1245206278

สำหรับงบประมาณที่ถูกดึงกลับมา คณะกรรมการฯ จะนำไปใช้ในโครงการที่เหมาะสม เช่น กรณีข้อเสนอภาคเอกชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่ต้องการให้ภาครัฐร่วมจ่ายค่าจ้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา ว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องทำให้รอบคอบ ดูกลไกให้รอบคอบ จะได้ไม่เกิดเรื่องไม่ดีไม่งาม มีการทุจริต เช่น กรณีคนละครึ่ง ที่แม้ว่าทุกอย่างจะทำภายในระบบแอปลิเคชัน แต่ก็ยังสามารถโกงกันได้

“ขณะนี้วงเงินตาม พ.ร.ก.กู้ 1 ล้านล้านบาท เหลืออีกแค่ 2 แสนล้านบาท ในส่วนวงเงินเพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟู ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์จะพิจารณาเห็นชอบ มาตรการ ม.33 เรารักกัน จ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประกันตน โดยเสนอขอใช้งบ 3.7 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้จะเป็นการโยกงบจากแผนฟื้นฟู มาใช้ในการเยียวยา 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้งบจากแผนเยียวยาที่ยังเหลืออยู่” นายดนุชา เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าว

 

“สภาพัฒน์” แถลง GDP ติดลบ 6.1%

ในวันเดียวกันนี้ นายดนุชา เลขาธิการสภาพัฒน์ แถลงข่าวตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 ว่า ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 GDP ของประเทศไทยขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หดตัวลง 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

GDP จีดีพี 2564 สภาพัฒน์

ตัวเลข GDP ตลอดปี 2563 หดตัว 6.1% เนื่องจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศหดตัวอย่างมาก โดยนับเป็นตัวเลข GDP ที่ต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง

สำหรับแนวโน้มปี 2564 สภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเหลือ 2.5-3.5% มีค่ากลางที่ 3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.5-4.5% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้ นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงจากประสิทธิภาพการกระจายวัคซีน ความล่าช้าจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และภัยแล้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo