Business

ธุรกิจรับสร้างบ้าน คว้าอานิสงส์ภาษีที่ดิน เจ้าของที่ดิน-ที่มรดก แห่สร้างบ้านเพิ่ม

ภาษีที่ดิน หนุนเจ้าของที่ดิน ที่มรดก พลิกที่ดินสร้างบ้าน ราคา 10 ล้านสูงสุด โดยเฉพาะในพื้นที่กทม. หนุนภาพรวมรับสร้างบ้านโต

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายก สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า ผลจากการที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2565 เริ่มเก็บในอัตรา 100% และในปี 2566 จะเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าอีก 0.3% หากไม่ใช้ประโยน์ที่ดินในเวลาที่กำหนด 3 ปี จะมีผลบวกต่อธุรกิจรับสร้างบ้านในปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปี 2566

ภาษีที่ดิน

ทั้งนี้เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณเจ้าของที่ดินทั้งเป็นที่ดินมรดกและถือครองไว้นานแล้ว เริ่มนำที่ดินออกมาก่อสร้างบ้านอยู่อาศัยมากขึ้น โดยเฉพาะบ้านระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปที่มียอดสั่งสร้างเพิ่มขึ้นกว่า 5% จากเดิมมีสัดส่วนอยู่ที่ 30% ของตลาดบ้านสร้างเอง ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล

นอกจากนี้ ยังพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางวาขึ้นไป เพราะราคาที่ดินในกรุงเทพฯค่อนข้างแพง หากนำมาสร้างบ้านอยู่อาศัยจะทำให้ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินแพงขึ้น และเพื่อหนีต้นทุนก่อสร้างใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

คุณวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน
วรวุฒิ กาญจนกูล

ขณะที่ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปีนี้ เติบโตเกินเป้าหมาย โดยคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 12,500 ล้านบาท โดยเฉพาะบ้านระดับราคา 10 บาทขึ้นไป ส่วนกลุ่มตลาดบ้านระดับราคา2-3ล้านบาทหดตัวลง จากปัญหากำลังซื้อหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อและการชะลอการตัดสินใจก่อสร้างบ้านในตลาดระดับล่าง

ขณะเดียวกันสมาคมฯ ได้ร่วมกับคณะวิศวะกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนา มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย ขึ้น เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานการทำงานและความเข้าใจด้านคุณภาพที่ตรงกันระหว่าง บริษัทรับสร้างบ้าน กับ ผู้บริโภค

thumbnail มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัยฯ 04

ความร่วมมือดังกล่าว ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านกับภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้รวบรวมพันธมิตรภาคส่วนวิชาการอื่น ๆ และภาคเอกชนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันศึกษาและจัดทำ มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพของการก่อสร้างบ้านให้มีมาตรฐานที่เหมาะสมกับงานก่อสร้างบ้าน

ด้าน รศ.ดร.ธนิต ธงทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในฐานะที่ปรึกษาการพัฒนา ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างบ้านจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการทำงาน เพื่อช่วยให้ผู้รับเหมาสามารถพัฒนากระบวนการทำงานและลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติงาน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo