Business

หารือ ‘เชื่อมต่อทางรถไฟไทย-ลาว’ พัฒนาการขนส่ง หนุนการค้าการลงทุน 2 ประเทศ

‘อนุทิน -ศักดิ์สยาม’  เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย ร่วมการประชุมหารือ “โครงการเชื่อมต่อทางรถไฟไทย-ลาว” ณ สปป.ลาว พัฒนาความเชื่อมโยงการขนส่งในทุกมิติ เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมประชุมหารือกับ นายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการพัฒนาเชื่อมโยงการขนส่ง การค้าการลงทุนของ สปป.ลาว เกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ โดยมีอุปทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ (นางสาวจิรัสยา พีรานนท์)เข้าร่วมประชุมด้วย

เชื่อมต่อทางรถไฟไทย-ลาว

ซึ่งองค์ประกอบคณะผู้แทนฝ่ายไทยในการประชุมหารือครั้งนี้ ได้แก่ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งและแผนการขนส่งและจราจร นายนิรุฒ มณีพันธ์

ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ผู้แทนกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนหน่วยงานภาคเอกชนฝ่ายไทย ร่วมประชุม เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรม Muong Thanh Luxury Vientiane Hotel สปป.ลาว

เชื่อมต่อทางรถไฟไทย-ลาว

หารือ ‘เชื่อมต่อทางรถไฟไทย-ลาว’ สานต่อมิตรภาพและความร่วมมือ 2 ประเทศ

.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองงนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า การประชุมร่วมกับกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ในครั้งนี้เป็นการประชุมสำคัญ ที่ทั้งประเทศไทย และสปป.ลาว ได้เห็นชอบร่วมกันในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน

และขอขอบคุณรัฐบาลลาวที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นสำหรับการเยือน สปป.ลาว ในครั้งนี้ ถือเป็นการยืนยันคำหมายมั่นของประเทศไทย ที่ต้องการจะส่งเสริมและสานต่อมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกัน โดยทั้งสองประเทศต่างเป็น “บ้านใกล้เรือนเคียง” ที่ดี  พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันและมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงและคล้ายคลึงกัน ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน

พร้อมกับกล่าวชื่นชมรัฐบาลลาวต่อการเปิดให้บริการโครงการรถไฟลาว – จีน ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟเชื่อมนครหลวงเวียงจันทน์กับคุนหมิง ที่จะส่งเสริมการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างลาวและจีน ให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

เชื่อมต่อทางรถไฟไทย-ลาว

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะทำให้การเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างหนองคายและเวียงจันทน์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองประเทศ ตลอดจนส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งอย่างเป็นระบบ อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันหารืออย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย นำผลการหารือไปปฏิบัติ เพื่อให้การเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมมีความคืบหน้า และเกิดผลประโยชน์สูงสุดสุดร่วมกัน

โดยเฉพาะการพัฒนาการประสานงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้อาเซียนเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน และเชื่อว่าอาเซียนที่มีความเป็นปึกแผ่นจะเป็นอาเซียน ที่มีพลังและสามารถมีบทบาทสำคัญในประเด็นระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคนี้ต่อไป

เชื่อมต่อทางรถไฟไทย-ลาว

พัฒนาความร่วมมือด้านคมนาคม ส่งเสริมการค้าการลงทุน

.ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นฐานเศรษฐกิจแห่งอนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งและการค้า และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ รวมถึงการกำหนดกลไกในการกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยการคมนาคม และคณะร่วมหารือเกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ณ สปป.ลาว

โดยตระหนักถึงความสำคัญของโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟ ไทย – ลาว – จีน เพื่อรองรับการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ และถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค ที่จะสร้างโอกาสให้ทั้งสองประเทศ ในการส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสการแข่งขันในเวทีการค้าโลก

โดยในขณะนี้ฝ่ายไทยได้มีแผนเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟหนองคายไปยังสถานีรถไฟเวียงจันทน์ ด้วยการพัฒนาสถานีรถไฟหนองคาย ให้สามารถรองรับการขนส่งสินค้าผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 ได้

ซึ่งการหารือร่วมกันในวันนี้ เป็นนิมิตหมายอันดีที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกันที่จะพัฒนา และปรับปรุงความร่วมมือด้านการคมนาคมทั้ง 4 มิติ เพื่อที่การเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมร่วมกันระหว่างสองประเทศ จะมีความคืบหน้าและบรรลุเป้าหมาย ตามที่ผู้นำของทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกัน เพื่ออนาคตลูกหลานของประชาชนทั้งสองประเทศให้อยู่ดีกินดี นำมาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนร่วมกันต่อไป

เชื่อมต่อทางรถไฟไทย-ลาว

แผนการดำเนินการ เชื่อมต่อทางรถไฟไทย-ลาวจีน

สำหรับการบูรณาการ การเชื่อมต่อทางรถไฟไทย-ลาว และจีน มีแผนการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน มีรายละเอียด ดังนี้

  1. แผนการก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รายละเอียดดังนี้
  •  โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าเปิดให้บริการปี 2569
  • โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA คาดว่าเปิดให้บริการปี 2571
  • โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร สถานีทั้งหมด 15 สถานี คาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในปี 2565
  1. การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพาน
  • การบริหารจัดการสะพานเดิมระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ โดยเพิ่มขบวนรถขาไป 7 ขบวนและขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวน รองรับขบวนละ 25 แคร่ โดยกรมทางหลวง (ทล.) ทำการทดสอบการรับน้ำหนักรถไฟ ในระดับ U–20 เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของสะพาน
  • การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่ ห่างประมาณ 30 เมตร มีทั้งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน และทางขนาด 1 เมตร ปัจจุบันได้ข้อตกลงว่าฝ่ายไทยและฝ่ายลาวจะร่วมลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวงดำเนินการออกแบบสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ให้สามารถรองรับรถยนต์ด้วย

253681

กรมทางหลวงปรับการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study : FS Study) และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE)
  • ระยะที่ 2 งานออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) และงานศึกษาทบทวนผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ซึ่งขณะนี้ ทล. ได้ประกาศร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR ) สำหรับการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ

253680

  1. การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้า

แนวทางพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าของฝั่งไทย – ลาว เพื่อเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อในการขนส่งสินค้าข้ามแดน ผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

  • ระยะเร่งด่วน : การพัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า การเตรียมความพร้อมในการเปิดเส้นทางรถไฟจีน – ลาว โดยมีการพัฒนาสถานีหนองคาย ให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม โดยเพิ่มรถไฟ จาก 4 ขบวนต่อวัน เป็น 14 ขบวนต่อวัน และเพิ่มจากขบวนละ 12 แคร่ เป็น 25 แคร่ โดยพัฒนาบริเวณสถานีที่มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ราง โดย รฟท. ได้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานยกขนสินค้าเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ กรมศุลกากรดำเนินการขอออกประกาศ

ใช้พื้นที่บริเวณสถานีหนองคายเป็นพื้นที่ตรวจปล่อย จำนวน 46,800 ตารางเมตร โดย รฟท. อยู่ระหว่างพิจารณาแบ่งพื้นที่คงเหลือ จากการใช้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยออกเป็น 5 แปลง พื้นที่แปลงละ 11,200 ตารางเมตร เพื่อออกประกาศเชิญชวน จำนวน 4 แปลง และกันไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง 1 แปลง โดยจะกำหนดราคาค่าเช่าตามระเบียบต่อไป

  • ระยะยาว : การพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า (เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต) พัฒนาพื้นที่ย่านสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย ให้สามารถรองรับการขนส่งจากจีน – ลาว และส่งออกไปยัง สปป.ลาว ปัจจุบัน รฟท. อนุมัติให้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางรางจังหวัดหนองคาย โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในปี 2565

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo