Business

BEM คว้า ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ หลังเสนอให้รัฐอุดหนุนต่ำที่ 7.8 หมื่นล้าน

BEM คว้า ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ หลังเสนอให้รัฐอุดหนุนที่ 7.8 หมื่นล้านบาท เตรียมนำเข้าครม. และเซ็นสัญญาภายในปีนี้

ตามที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม ได้มีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยได้เปิดซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ ซึ่งมีผู้เสนอ 2 ราย คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM และ ITD Group จากนั้นได้เปิดซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งทั้ง2 บริษัทได้ผ่านข้อเสนอเช่นกัน

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

BEM เสนอเงินอุดหนุนต่ำกว่าราคากลาง

ล่าสุด ในวันนี้ ( 8 กันยายน 2565) รฟม. ได้เปิดซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ปรากฎว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) เสนอผลประโยชน์สุทธิ* (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ – 78,287.95 ล้านบาท ขณะที่ ITD Group เสนอผลประโยชน์สุทธิ* (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ – 102,635.66 ล้านบาท (หมายเหตุ : ผลประโยชน์สุทธิ* คือ (เงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม. หักลบด้วยจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม.)

นายภคพงศ์ ศิริกันทมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ผลการประมูลโครงการสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ปรากฎว่า บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เสนอผลประโยชน์สุทธิดีกว่ากลุ่ม บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)

เพราะเสนอตัวเลข ติดลบ 78,287.95 ล้านบาท ทำให้รัฐจ่ายค่างานโยธาต่ำกว่าราคากลางที่ 96,000 ล้านบาท และให้เงินตอบแทนสูงกว่า ดังนั้น BEM เป็นผู้ชนะในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

เตรียมนำเข้าครม. พิจารณา และเซ็นสัญญาภายในปีนี้

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ จะนำผลการประมูลดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ รฟม. จากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเข้า ครม.ได้ในปลายปีนี้ และจะสามารถเซ็นสัญญากับ BEM ได้ภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน

สำหรับรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีลงทุนรูปแบบ PPP net cost รัฐลงทุน 110,673 ล้านบาท จ่ายค่าเวนคืนที่ดิน 14,661 ล้านบาท และค่าเงินลงทุนให้เอกชนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท ด้านเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบ ขบวนรถไฟฟ้า บริหารเดินรถและซ่อมบำรุง ระยะเวลา 30 ปี วงเงิน 32,116 ล้านบาท โดยเอกชนผู้ชนะ จะคำนวนจากข้อเสนอ ที่ขอรับการอุดหนุนจากรัฐน้อยที่สุด และการให้ผลตอบแทนกับรัฐมากที่สุด

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

โครงการดังกล่าว มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ไทม์ไลน์ประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

  1. ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นกำหนดการยื่นข้อเสนอ ปรากฎว่ามีผู้มายื่นข้อเสนอการร่วมลงทุน จำนวนทั้งสิ้น 2 ราย ได้แก่ 1) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) (BEM) และ 2) ITD Group
  2. รฟม. คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ พร้อมทั้งผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้ร่วมเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 โดยได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอซองที่ 1 และได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 แล้วเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 โดยผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายเป็นผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1
  3. รฟม. คณะกรรมการคัดเลือกและเอกชนผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 พร้อมทั้งผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้ร่วมเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยได้ตรวจสอบพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 แล้วเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 โดยผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายเป็นผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2
  4. ในวันเดียวกัน (7 กันยายน 2565) รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน โดยมีผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมและผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 เข้าร่วม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งมีผลการยื่นข้อเสนอในเบื้องต้น ดังนี้
  •  บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) เสนอผลประโยชน์สุทธิ* (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ – 78,287.95 ล้านบาท
  •  ITD Group เสนอผลประโยชน์สุทธิ* (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ – 102,635.66 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo