Business

‘ธุรกิจสุขภาพและความงาม’ จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น 90% เติบโตรับ ‘เทรนด์รักษาสุขภาพ’

‘ธุรกิจสุขภาพและความงาม’ จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น 90% เติบโตรับ ‘เทรนด์รักษาสุขภาพ’ เหตุผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและโควิด

ธุรกิจด้านบริการสุขภาพและความงามมีแนวโน้มฟื้นตัวและเติบโต ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่กว่า 353 ราย เพิ่มขึ้นจาก 8 เดือนแรกปี 2564 กว่า 90%

ธุรกิจสุขภาพและความงาม

ธุรกิจเติบโต มาจาก 2 ปัจจัยหลัก

ทั้งนี้ มาจากสองปัจจัยหลัก คือ โครงสร้างประชากรที่ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ปีนี้มีจำนวนผู้สูงอายุ คิดเป็นร้อยละ 18.5% และคาดการณ์ว่า ปี 2583 จะมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 20.5 ล้านคน หรือ เกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ หมายถึงโอกาสทางธุรกิจด้านบริการสุขภาพและความงาม เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุหันมาดูแลตัวเองและต้องการบริการด้านนี้มากขึ้น

อีกปัจจัยหนึ่ง คือโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ทั้งการทำงานแบบ Work from Home การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การระมัดระวังเรื่องสุขอนามัย การเลือกซื้อวิตามินและอาหารเสริมต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนมองหาบริการด้านสุขภาพและความงามมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานตัวเลขยืนยันการเติบโตและฟื้นตัว ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามอย่างรวดเร็ว โดย 8 เดือนแรก (มกราคม – สิงหาคม) ปี 2565 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงถึง 353 ราย ทุนจดทะเบียน 969.42 ล้านบาท

เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 จำนวน 167 ราย หรือ 90% และทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 659.32 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 212.62  (ปี 2564 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 186 ราย ทุน 310.10 ล้านบาท)

เฉพาะเดือนสิงหาคม 2565 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 56 ราย ทุนจดทะเบียน 124.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 38 ราย หรือ 211.12% และทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 105.10 ล้านบาท หรือ 539% (สิงหาคม 2564 จดทะเบียน 18 ราย ทุน 19.50 ล้านบาท)

ธุรกิจสุขภาพและความงาม

ภาพรวม ธุรกิจสุขภาพและความงาม ในปัจจุบัน

สำหรับภาพรวม มีธุรกิจบริการประเภทนี้ที่ดำเนินกิจการอยู่ ณ 31 สิงหาคม 2565 จำนวนทั้งสิ้น 1,621 ราย มูลค่าทุน 7,511.48 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 836 ราย (51.57%) ทุนจดทะเบียนรวม 5,339.31 ล้านบาท (71.08%) รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 224 ราย (13.82%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 180 ราย (11.10%) ภาคเหนือ 175 ราย (10.80%) ภาคตะวันออก 101 ราย (6.23%) ภาคใต้ 78 ราย (4.81%) และภาคตะวันตก 27 ราย (1.67%)

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า ยังมีนโยบายการส่งเสริมและการขยายการท่องเที่ยวของรัฐบาล ที่เน้นการท่องเที่ยวในรูปแบบ Medical Tourism (การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์) และ Wellness Tourism (การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ) ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญช่วยขยายการเติบโตธุรกิจบริการสุขภาพและความงาม

โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medial Hub) พ.ศ. 2560-2569 สนับสนุนการใช้สมุนไพรไทย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพ (Wellness) ให้กับนักท่องเที่ยวให้ได้รับความผ่อนคลายจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในแต่ละท้องถิ่น อาทิ บริการนวดไทยเพื่อสุขภาพ ซึ่งยังช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่การท่องเที่ยวต่างๆ ด้วย

ธุรกิจสุขภาพและความงาม

ธุรกิจสุขภาพและความงาม มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัจจัยโครงสร้างประชากรที่จำนวนผู้สูงอายุมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น และการใช้ชีวิตของคนวัยต่างๆที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ทั้งเรื่องการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร รวมถึงการดูแลตนเองแบบองค์รวม อีกทั้งยังมีนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ประชาชนผู้สนใจธุรกิจด้านนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ส่วนประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4376 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo