Business

กสทช. เปิด 5 Facts ดีล ‘ทรู-ดีแทค’ – ชี้ไม่มีประเทศไหนควบรวมเหลือ 2 ราย

กสทช. เปิด 5 Facts ดีลทรู-ดีแทค ข้อมูลระบุชัดไม่มีประเทศไหนควบรวมเหลือ 2 ราย ขณะที่ไทยเป็นการขอรวมธุรกิจจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย จำเป็นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและรัดกุม 

กสทช. เปิด 5 ข้อมูลสำคัญให้สาธารณะรับรู้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความชัดเจน โปร่งใส และนโยบายภาครัฐที่เปิดกว้าง กรณีการขอควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ทรูและดีแทค” ซึ่งกำลังเป็นที่จับตาของประชาชนในทุกภาคส่วนในปัจจุบัน

กรณีการขอควบรวมธุรกิจดังกล่าว ถือเป็นดีลใหญ่ในประวัติศาสตร์กิจการสื่อสารของประเทศไทย ที่ผ่านมาก่อให้เกิดคำถามขึ้นในสังคมมากมาย ว่าจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างไร จะทำให้เกิดการผูกขาดธุรกิจหรือไม่ และเป็นผลดีอย่างไรต่อเศรษฐกิจและประเทศ ตลอดจน กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาต/ไม่อนุญาตหรือไม่ นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังปรากฏว่ามีข่าวกุ ข้อมูลเท็จ (fake news)ในกรณีดังกล่าวจำนวนมาก ทำให้ประชาชนสับสน และเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้

ดีลทรู-ดีแทค

ดีลทรู-ดีแทค 5 Facts กรณีควบรวม

ทั้งนี้ เพื่อคลายข้อสงสัยและสื่อสารกับสาธารณะ บนหลักฐานและข้อเท็จจริง สำนักงาน กสทช. จึงได้จัดทำข้อมูลในรูปแบบ Infographics ภายใต้หัวเรื่อง “5 Facts กรณีควบรวมทรู-ดีแทค” และเผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ โดยมีรายละเอียดโดยสังเขปดังต่อไปนี้

Fact ที่ 1  ดีลนี้เป็นครั้งแรก ที่มูลค่าทรัพย์สินและรายได้ ตกกับบริษัทควบรวมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การควบรวมกิจการด้านการสื่อสารของประเทศ อาจส่งผลให้ผู้รายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดได้ยากขึ้น และอาจส่งผลกระทบทำให้การแข่งขันด้านราคาค่าบริการลดลง ที่สำคัญกรณีนี้แตกต่างอย่างชัดเจน จากการขอรวมธุรกิจในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้รับใบอนุญาต ที่เป็นบริษัทในกลุ่มหรือเครือเดียวกัน หรือเป็นการรวมที่มีสินทรัพย์ไม่เกินวงเงินที่กฎหมายกำหนด รวมถึงกรณีที่เป็นการควบรวมของรัฐวิสาหกิจ CAT กับ TOT เป็น NT ตามมติ ครม.

ดีลทรู-ดีแทค

Fact ที่ 2 ประสบการณ์การควบรวมกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างประเทศ ปรากฏผลทั้งที่อนุญาตแบบมีเงื่อนไขเข้มข้นมาก และไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการขอควบรวมจาก 4 ราย เหลือ 3 รายใหญ่ และพบว่าแทบไม่มีประเทศใดเลย ที่เป็นการควบรวมจาก 3 ราย เหลือ 2 รายใหญ่อย่างประเทศไทย เว้นแต่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งปรากฏว่าหลังจากที่ควบรวมเหลือ 2 รายแล้ว ผ่านไป 10 ปี จึงมีรายที่ 3 เข้าตลาดมาใหม่ ส่วนประเทศนอร์เวย์นั้น ปรากฏว่ามีรายใหม่เข้าสู่ตลาดพอดีในช่วงที่มีการขอควบรวม หน่วยงานกำกับดูแล จึงบังคับผู้ขอควบรวมให้ขายโครงสร้างพื้นฐานและขายฐานลูกค้าให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ในประเทศนอร์เวย์จึงยังคงมีผู้ให้บริการในตลาดที่ 3 รายเหมือนเดิม

ดีลทรู-ดีแทค

Fact ที่ 3 กรอบระยะเวลาในการพิจารณาการควบรวมกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในต่างประเทศที่ผ่านมา มีตั้งแต่ใช้เวลา 3 เดือน จนถึงไม่กำหนดกรอบระยะเวลา ซึ่งประเทศเหล่านั้นเป็นการขอรวมธุรกิจภายใต้บริบทจากผู้ประกอบกิจการ 4 ราย เหลือ 3 ราย ส่วนของประเทศไทยนั้น เป็นการขอรวมธุรกิจจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย จึงอาจจำเป็นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและรัดกุมยิ่งขึ้น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างสำนักงาน กสทช. ขอขยายระยะเวลาในการปรับปรุงแก้ไขรายงานฯ ตามข้อสั่งการของที่ประชุม ที่ให้หาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ กสทช. พิจารณาในขั้นสุดท้าย

ดีลทรู-ดีแทค

ดีลทรู-ดีแทค ไม่ควรให้ควบรวม

Fact ที่ 4  ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ที่กสทช. ชุดปัจจุบัน (ได้รับการโปรดเกล้าฯเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 18 เมษายน) แต่งตั้งขึ้นภายใต้ Roadmap เพื่อพิจารณาดีลการควบรวมนี้ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2565

คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายชี้ว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต ตลอดจนกำหนดมาตรการเพื่อป้องกัน ไม่ให้มีการกระทำที่เป็นการผูกขาด ลดการแข่งขัน โดยกำหนดเงื่อนไขเท่าที่จำเป็น

คณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ขอรวมธุรกิจจะมีแรงจูงใจ ในการขึ้นค่าบริการหลังควบรวมสำเร็จ ผู้เล่นรายใหม่จะเจออุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดยากขึ้น GDP จะลดลงราว 0.05% – 1.99% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 0.05 – 2.07%

คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี เห็นว่า กรณีการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจมีผลดี/ผลเสียแตกต่างกัน และผู้ประกอบการที่มีโครงข่ายและคลื่นน้อยที่สุดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

คณะอนุกรรมการด้านผู้บริโภค เห็นว่า ไม่ควรให้ควบรวม แต่หากให้มีการควบรวม ก็ควรมีการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการ ทั้งเงื่อนไขกำกับในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กำหนดให้มีการกระจายการถือครองคลื่นความถี่ เสาโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐาน มีการกำหนดค่าตอบแทนการใช้โครงข่ายที่เป็นธรรม ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขกำกับด้านพฤติกรรมของผู้ประกอบกิจการ เช่น การบริการและคุณภาพไม่ต่ำกว่าเดิม รายการส่งเสริมการขายที่หลายหลาย พื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม พัฒนาขยายโครงข่าย 5G ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นมาตรการหลักประกันในการให้และรับบริการในด้านต่างๆ ไว้ไม่น้อยกว่าเดิม

ดีลทรู-ดีแทค

Fact ที่ 5  สำนักงาน กสทช.ได้ดำเนินการจัดจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านต่าง ๆ จากการรวมธุรกิจระหว่างทรู-ดีแทค โดยขอบเขตอำนาจทางกฎหมายเห็นว่า กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข และมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน ในส่วนมาตรการเชิงโครงสร้างและพฤติกรรมเห็นว่า กสทช.ควรมีการเรียกคืนคลื่นความถี่การถือครองที่มากเกินความจำเป็นและควรมีการกำกับดูแลอัตราค่าบริการ กำหนดสัดส่วนการลงทุนของผู้ประกอบการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อรายได้ รวมทั้งกำหนดความครอบคลุมของพื้นที่การให้บริการ (Coverage)

thumbnail fact not fake 05

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight