Business

เลขาฯ คปภ. ร้องศาลล้มละลาย สินมั่นคง ดื้อแพ่ง ไม่หยุดรับประกันรายใหม่ เบี้ยวจ่ายค่าปรับ

คปภ. หารือศาลล้มละลาย สินมั่นคงไม่หยุดรับประกันรายใหม่ ไม่จ่ายค่าปรับประวิง ชี้สร้างภาระหนี้เพิ่ม แนะโอกาสสุดท้ายในการเจรจาเจ้าหนี้

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.ได้ยื่นเรื่องไปยังศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอให้ศาลช่วยชี้แจงกรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ที่อยู่ระหว่างยื่นขอเข้าฟื้นฟูกิจการ มีขอบเขตที่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างไรบ้าง

ศาลล้มละลาย สินมั่นคง

ทั้งนี้เนื่องจากศาลอนุญาตให้ทาง สินมั่นคง ประกอบธุรกิจตามปกติได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. แต่ที่ผ่านมา สินมั่นคง ไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่ คปภ.กำหนดไว้หลายเรื่อง

ตัวอย่างเช่น ไม่หยุดรับประกันภัยรายใหม่ ทั้งที่ คปภ.ค่อนข้างเป็นห่วง ว่าถ้าเงินทุนไม่พอและเกิดแผนฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จ อาจทำให้หนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะไม่มีเงินมาจ่ายประชาชน และการไม่จ่ายค่าปรับในฐานะการประวิง

ขณะนี้ยังมี 2 เรื่องที่ คปภ.ไม่สามารถดำเนินการได้ คือ 1. ไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 52 แห่งกฎหมาย คปภ. สั่งหยุดรับประกันชั่วคราวได้ และ 2. ไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 59 สั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้

นายสุทธิพล กล่าวว่า คปภ.ก็ได้เตรียมการรองรับ กรณีหากศาลไม่รับคำขอฟื้นฟูกิจการของสินมั่นคงไว้แล้ว คือ  การบังคับใช้มาตรา 52 สั่งหยุดรับประกันชั่วคราว และเข้าสู่กระบวนการสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ตามมาตรา 59

สิ่งที่ สินมั่นคง จะทำคือ ต้องปรับโครงสร้างหนี้ เจรจาปรับลดหนี้ ซึ่งต้องคุยกับเจ้าหนี้ ถ้าเจ้าหนี้ยินยอมแปลงหนี้เป็นทุน เพื่อให้นักลงทุนอาจเข้ามาใส่เงินได้

นอกจากนี้ คปภ.ได้แนะนำสินมั่นคงให้ไปเจรจาทำความเข้าใจกับผู้เอาประกัน ซึ่งควรเริ่มสื่อสารตั้งแต่ก่อนยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการ เพราะประชาชนรู้สถานการณ์แล้ว และทุกคนไม่ยอม เพราะอยากได้รับเงินตามสิทธิ ดังนั้นถึงตอนนี้อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่บริษัทจะต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้

สุทธิพล ทวีชัยการ151064
นายสุทธิพล ทวีชัยการ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า คปภ.ค่อนข้างกังวลว่า หากสินมั่นคงฯไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ ภาระหนี้อีกราว 3 หมื่นล้านบาท จะตกไปอยู่กับกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งจะทำให้กองทุนมีภาระหนี้รวมแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท

ก่อนหน้านี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เลื่อนกำหนดไต่สวนพยานลูกหนี้ผู้ร้องขอและเจ้าหนี้ผู้คัดค้านนัดแรกออกไปเป็นในวันที่ 6, 9, 16 และ 20 กันยายน 2565 หลังจากในวันนัดไต่สวนนัดแรก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา สินมั่นคง ได้จัดประชุมให้ข้อมูลแก่เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง หลังจากศาลเลื่อนไต่สวนออกไป

นายรองกรรมการผู้จัดการ สำนักกรรมการผู้จัดการ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีเคลมสินไหมคงค้างกว่า 350,000 เคลม มูลหนี้รวม 30,000 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อใช้ใน 2 ส่วน คือ

shutterstock 1659432283 3

1. ชำระหนี้สินไหมโควิด และปรับโครงสร้างหนี้ 2.เป็นเงินทุนเพื่อทำให้อัตราส่วนเงินกองทุน (CAR) เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว บริษัทจะกลับไปพูดคุยกับนักลงทุนถึงแนวทางการร่วมทุนและนำเงินมาชำระหนี้

ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้จัดหาผู้ร่วมทุนใหม่ และปัจจุบันคัดเลือกผู้สนใจเหลือ 3 ราย โดยเป็นนักลงทุนในเอเชีย 1 ราย และยุโรป 2 ราย ที่รอจะเจรจากับบริษัท ภายหลังมีความชัดเจนในการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว

2. แนวทางการชำระหนี้ค่าสินไหมโควิด 30,000 ล้านบาท ต้องมีการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ หรือปรับแนวทางการชำระหนี้ร่วมกัน รวมไปถึงอาจจะต้องแปลงหนี้ส่วนหนึ่งเป็นทุน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo