Business

ทำความรู้จัก ‘Regenerative Tourism’ ประเด็นสำคัญประชุมเอเปค ด้านท่องเที่ยว

Regenerative Tourism แนวคิด “การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน” ประเด็นสำคัญไทยผลักดันในที่ประชุมท่องเที่ยวเอเปค คืออะไร ที่นี่มีคำตอบ

ในวันที่ 14-20 สิงหาคมนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยวเอเปค ณ โรงแรม Pullman Bangkok King Power กรุงเทพฯ

Regenerative Tourism

ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญและต้องการผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ คือ แนวคิด การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน หรือ Regenerative Tourism

แนวคิดดังกล่าว เป็นแนวคิดที่เน้นการจัดการการท่องเที่ยวแบบองค์รวม คือ การวางแผนและการจัดการที่ไม่เพียงแต่คำนึงถึงการลด หรือป้องกันผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวในทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และวิถีของชุมชน

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการฟื้นฟูทรัพยากรที่นำมาใช้ ไม่ให้เสื่อมโทรมลง ต้องมีวิธีทำให้ดีขึ้นไปพร้อม ๆ กัน เป็นแนวคิดใหม่สำหรับประเทศไทยที่ตั้งใจสานต่อจากนิวซีแลนด์ เป็นความคืบหน้าที่ไทยมุ่งให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค

สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการผลักดันประเด็น Regenerative Tourism คือ เป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดมาจากแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

LINE ALBUM Travelเปิดประเทศวันหยุด ๒๒๐๘๑๓ 1

ขณะเดียวกัน ยังส่งเสริมนโยบายและภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทย ที่มีความมุ่งมั่นในการรักษาทรัพยากรฟื้นฟูคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวของไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิมต่อเนื่องและยั่งยืน ให้ความสำคัญกับคนในชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยคนในชุมชนได้รับประโยชน์ในแบบที่ตนเองต้องการไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และการได้ฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิม

ที่ผ่านมา รัฐบาลก็ได้ดำเนินการมาแล้ว เช่น การประกาศปิดอ่าวมาหยา จังหวัดกระบี่ 1 ส.ค.-30 ก.ย. 65 เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวเป็นการมุ่งรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ให้เสื่อมโทรม โดยไม่ได้คำนึงถึงแต่เพียงรายได้การท่องเที่ยวอย่างเดียว

ในส่วนของสมาชิกเอเปค แนวคิดนี้จะเปิดโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะช่วยฟื้นการท่องเที่ยวในเอเปคจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ให้ฟื้นคืนกลับมาและดียิ่งขึ้นกว่าเดิม บรรลุเป้าหมายของการท่องเที่ยวที่นำทรัพยากรมาใช้แล้วช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นกว่าเดิม สังคม วัฒนธรรม มีความคิดสร้างสรรค์ มีคุณค่ามากขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังเป็นเศรษฐกิจที่เน้นให้คนท้องถิ่นมีอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งเสริมการเดินทางระหว่างกันและการท่องเที่ยว และครอบคลุมการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม

ขอบคุณข้อมูลจาก: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo