Business

‘BEM’ ตรึงค่าทางด่วน 1 ปี ซื้อคูปองจ่ายราคาเดิม เส้น’ศรีรัช-วงแหวนรอบนอก’

“ศักดิ์สยาม” เจรจา BEM ลดค่าครองชีพประชาชน  ยังไม่ปรับค่าทางด่วน “ศรีรัช – วงแหวนรอบนอก” ตามสัญญา ขอใช้ราคาเดิม 1 ปี เริ่ม 15 ธ.ค.นี้-15 ธ.ค.65 กล่อม BEM ใช้ตั๋วร่วม-เทคโนโลยีจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น ขณะผู้บริหาร BEM เผยพร้อมตรึงค่าทางด่วน 1 ปี เตรียมออกโปรโมชันซื้อคูปอง ใช้ราคาเดิม 

police 4

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ประธานคณะกรรมการ และนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) โดยนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร นายพงษ์สฤษดิ์  ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บริษัท  เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรการเยียวยาให้กับประชาชน จากกรณีการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ตามสัญญาสัมปทาน ในวันที่ 15 ธันวาคม 2564

180792 e1635923079620

​นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าการหารือครั้งนี้สืบเนื่องจากในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจ โดยรวมของประเทศ เป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) อาจส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษ จากการหารือครั้งนี้ เห็นควรให้ กทพ. และ BEM มีแนวทางการกำหนดมาตรการเยียวยาให้กับประชาชน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนอันอาจเกิดขึ้น ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลได้แสดงความห่วงใยต่อกรณีการปรับค่าผ่านทาง จึงขอให้ทาง BEM ได้พิจารณาให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และช่วยเหลือประชาชน โดยการออกมาตรการในการส่งเสริมการตลาด หรือชะลอการขึ้นค่าผ่านทางที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ด้วย

180793 e1635923104620

ทั้งนี้ผู้แทนบริษัท BEM ได้รับต่อที่ประชุมในการช่วยออกมาตรการส่งเสริมทางการตลาด เพื่อมิให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อการปรับขึ้นค่าผ่านทางในช่วงดังกล่าว โดยออกเป็นลักษณะของการส่งเสริมการตลาด หรือ Promotion ในรูปแบบผู้ใช้ทางที่ใช้คูปองชำระค่าผ่านทางในอัตราราคาเดิมที่ใช้อยู่เป็นระยะเวลา 1 ปี (15 ธ.ค. 2564 – 15 ธ.ค. 2565) โดยทาง BEM จะทำหนังสือยืนยันมาตรการดังกล่าว แจ้งมายัง กทพ. เพื่อประชาสัมพันธ์ผู้ใช้ทางพิเศษในช่วงดังกล่าวต่อไป

​ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบนทางพิเศษของ กทพ. ที่อยู่ในการกำกับดูแลตามสัญญาสัมปทานของ BEM จำนวน 3 สายทาง ประกอบด้วย ทางพิเศษสายศรีรัช ทางพิเศษสายอุดรรัถยา และทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยการนำเทคโนโลยีระบบจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-Lane Free Flow : M-Flow) มาใช้ ทั้งนี้ได้มีข้อสรุปให้ กทพ. จัดทำแผนให้ชัดเจนเพื่อเร่งรัดการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติต่อไป

180794 e1635923087724

 

​นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการพัฒนาระบบตั๋วร่วม เพื่อให้บริการในระบบขนส่งสาธารณะแก่ประชาชนให้ได้รับความสะดวก โดยทาง BEM ยินดีให้ความสนับสนุนกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อใช้ในระบบขนส่งสาธารณะที่กระทรวงคมนาคมดำเนินการอยู่ โดยระยะแรกได้มีการพัฒนาระบบ EMV Contactless ซึ่งเป็นการหักเงินผ่านระบบบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของธนาคาร ทั้งในระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง พร้อมบูรณาการร่วมกับรถโดยสารของ ขสมก. และทางพิเศษ และจะได้มีการขยายผล  ให้ครอบคลุมระบบขนส่งสาธารณะของกระทรวงคมนาคม รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบในระยะต่อไป

ด้านนายพงษ์สฤษดิ์  ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน บริษัทพร้อมตรึงค่าผ่านทางราคาเดิมอีก 1 ปี  แต่จะออกโปรโมชัน ให้ผู้ใช้บริการทางด่วนซื้อคูปองในราคาเดิมออกไป 1 ปี “เท่ากับเป็นการตรึงค่าผ่านทางเส้นนอกเมือง 1 ปี สำหรับผู้ที่ซื้อคูปอง ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight