Business

‘ปิยสวัสดิ์’ ย้ำการบินไทยกู้ก้อนแรก 2.5 หมื่นล้าน – วอนรัฐใส่ด้วย 2.5 หมื่นล้าน!!

การบินไทยกู้เงิน “ปิยสวัสดิ์” โชว์แผนบริหารฟื้นฟูการบินไทย ลั่นลดค่าใช้จ่ายได้ปีละ 44,800 ล้าน กู้ก้อนแรกจากเอกชน  2.5 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่อง คาดเงินเข้าต้นปี 65  วอนรัฐบาลช่วยอัดเงินอีก 2.5 หมื่นล้าน เหตุการบินไทยจะได้เข้าไปซื้อขายในตลาดหุ้นอีกครั้ง เดินหน้าขายเครื่องบิน จี้คมนาคมเร่งเซ็นอนุมัติโอนเครื่อง 11 ลำ เดินหน้าโละทิ้ง 42  ลำ เจรจาคืนผู้ให้เช่า 16 ลำ 

​นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมนายธีรัชย์ อัตนวานิช ประธานคณะกรรมการเจ้าหนี้ การบินไทย พร้อมผู้บริหารแผน ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย

การบินไทยกู้เงิน

 

การบินไทยกู้เงิน เสริามสภาพคล่อง

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่าตั้งแต่มีการยื่นทำแผนฟื้นฟูเมื่อปีที่แล้ว และมีคณะผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 คณะผู้ทำแผนก็ได้ดำเนินการหลายอย่าง ในการทำแผน พร้อมปฎิบัติการหลายอย่าง เพื่อให้บริษัทอยู่รอดได้ มีการเจรจาสัญญาเช่าเครื่องบินกับผู้ให้เช่า เพื่อหาค่าเช่าที่เป็นที่ยอมรับได้  จัดทำในรูปของ lOI  มีการปรับโครงสร้างองค์กร ลดพนักงาน ถ้าไม่ลดบริษัทก็อยู่ไม่ได้ เพื่อพยุงให้บริบริษัทอยู่ต่อไปได้ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่มีความรุนแรง

การบินไทยกู้เงิน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 การบินไทยยังยืนยัน มีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงิน 25,000 ล้านบาท จากสถาบันเอกชนเพื่อเสริมสภาพคล่อง และใช้จ่ายบริหารงานทำธุรกิจในปี 2565 คาดว่าเงินจำนวนดังกล่าวเพียงพอที่จะทำให้การบินไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างแข็งแรง แต่หากได้เงินจากภาครัฐด้วยก็ดี มีข้อจำกัดของภาครัฐ เรื่องกฎระเบียบ เรื่องการเมือง ซึ่งเราเข้าใจ ในชั้นนี้เราเดินเฉพาะสถาบันการเงินเอกชน โดยเงินจำนวนดังกล่าวจะเข้ามาในช่วงต้นเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565

การบินไทยกู้เงิน

โดยเงินจำนวนดังกล่าวจะนำมาบริหารจัดการในส่วนของจ่ายคืนค่าตั๋วโดยสารของลูกค้าจำนวน 12,000 ล้านบาท จ่ายค่าชดเชยให้พนักงานการบินไทย ที่เข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออกจำนวน 4,000 ล้านบาท และค่าเช่าเครื่องบินอีก 2,800 ล้านบาท และเป็นค่าบริหารจัดการทั่วไป

การบินไทยกู้เงิน วอนรัฐช่วยใส่เงินเข้ามาด้วย

นอกจากเงินกู้ 25,000 ล้านบาท แล้วการบินไทยยังต้องการสินเชื่อใหม่จากรัฐบาลวงเงิน 25,000 ล้านบาทด้วย เพื่อที่จะทำให้การบินไทยกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้งบดุลทางบัญชีในปี 2565 ดูสวยงามไม่ติดลบ  แม้ว่ารัฐบาลจะใส่เงินเข้ามาฐานะการบินไทยจะยังเป็นเอกชนไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากสัดส่วนผู้ถือหุ้นของรัฐจะไม่เกิน 40%

สาเหตุที่ทำให้ภาครัฐควรที่จะกลับมาปล่อยสินเชื่อให้การบินไทยจะมี 4 ประเด็นหลักที่จะได้รับประโยชน์ คือ

1. แนวโน้มการทำธุรกิจของการบินไทยหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด การบินไทยจะกลับมาทำกำไรแน่นอน

2. สภาพคล่องการบินไทยจะดีขึ้นภายหลังมีการกู้เงิน 25,000 ล้านบาท

3. การบินไทยมีหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันได้ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

4. หากเจ้าหนี้การบินไทยให้การบินไทยกู้ เจ้าหนี้จะมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคา 2.54 บาทต่อหุ้น ขณะที่ราคาพาร์อยู่ที่ 10 บาทต่อหุ้น ทำให้เห็นว่าเมื่อสถานการณ์การบินดีขึ้น การบินไทยกลับมาทำการบินอย่างเต็มรูปแบบจะมีกำไรอย่างแน่นอน

การบินไทยกู้เงิน

 

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่าปัจจุบันบริษัทมีสภาพคล่อง ประมาณ 6,500 ล้านบาท จะค่อยๆฟื้นตัวของธุรกิจการบิน โดยช่วง 6 เดือนแรกปี 2564 การบินไทยขาดทุนลดลง จากช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 3,973 ล้านบาท เมื่อรวมรายการครั้งเดียวทางบัญชี ทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 11,121 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 39,151 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เดือนตุลาคม 2564 บริษัท มีรายได้จากการดำเนินงานสูงสุดนับตั้งแต่ มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายน 2563  สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นฟูของธุรกิจการบิน โดยระหว่างเดือนเมษายน2563 – ตุลาคม 2564 บริษัทมีรายได้จากเที่ยวบินขนส่งสินค้าทางอากาศ รวมกว่า 10,000 ล้านบาท มีรายได้จากหน่วยธุรกิจการบินในการให้บริการลูกค้ากว่า 80 สายการบินเป็นเงินรวม 4,800 ล้านบาท และมีแผนงานขยายธุรกิจ Master Franchise ร้าน Puff & Pie ไปทั่วประเทศ

 แจงแผนลดค่าใช้จ่ายทุกส่วน

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่าในส่วนของความคืบหน้า การทำแผนฟื้นฟูการบินไทยในช่วงที่ผ่านมา โครงการที่สำคัญที่ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงคือ ด้านบุคคลกรที่มีการลดคน รวม Outsource จาก 29,000 คน ช่วงปลายปี 2562 เหลือ 14,000 คน ในปัจจุบัน ประหยัดเงินเดือนค่าจ้างได้ปีละ 16,000 ล้านบาท ฝูงบินที่ใช้อยู่ตอนนี้ 58 ลำจาก 100 กว่าลำ เป็นเครื่องบินที่มีประสทิธิภาพสูง  ค่าน้ำมันประหยัดได้ปีละ 12,000 ล้านบาท เทียบกับระดับการบินเท่าเดิม การเจรจาปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบิน ประหยัดได้ปีละ 6,800 ล้านบาท เช่นเดียวกับการเจรจาสัญญาซ่อมเครื่องยนต์ประหยัดได้ปีละ 4,500 ล้านบาท ปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างประหยัดปีละ 1,100 ล้านบาท  การปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติการบิน 719 ล้านบาท การเพิ่มประสิทธิภาพฝ่ายช่าง 802 ล้านบาท ปรับปรุงการทำงานเป็นกะ และด้านอื่นๆ 3,200 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกและปรับลดสิทธิประโยชน์ของผู้บริหารและพนักงาน อาทิ ยกเลิกสิทธิบัตรโดยสารกรรมการบริษัทฯ และพนักงานเกษียณ การจ่ายภาษี สิทธิการปรับชั้นโดยสาร (Upgrade) พนักงาน ค่าพาหนะผู้บริหาร ค่ารักษาพยาบาล โดยปรับให้เป็นไปตามสิทธิประกันสังคม เงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ใช้ไม่หมดภายในระยะเวลาที่ระเบียบฯ กำหนด (Vacation Compensation) ปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าตอบแทนรวมถึงหลักเกณฑ์การคำนวณค่าทำงานล่วงเวลา ลดสิทธิบัตรโดยสารพนักงาน เป็นต้น

การบินไทยกู้เงิน

นายปิยสวัสดิ์  กล่าวถึงฝูงบินว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ เมื่อก่อนมีเครื่องบินกว่า 100  ลำ ได้เจรจากับผู้ให้เช่าขอให้เสนอเงื่อนไขการให้เช่าใหม่ เลือกว่าเครื่องบินอันไหนเก็บไว้ พยายามลดชนิดเครื่องบินและเครื่องยนต์ ก็จะทำให้การดำเนินการต้นทุนบำรุงรักษาลดลง  พบว่าเครื่องบิน B777-300, A350-900,B787 เงื่อนไขถือว่าดีกว่า ส่วน A 320 ต้องเก็บไว้เพราะมีความจำเป็นที่ต้องใช้ในประเทศบินระยะทางไม่ไกล ตอนนี้สายการบิน ไทยสมาย เช่าช่วงอยู่ ตอนนี้ผู้ทำแผนได้ตัดสินใจเก็บเอาไว้ 58 ลำ อยู่ระหว่างดำเนินการเปลี่ยน lOI เป็นสัญญาระยะยาวคิดว่าจะเสร็จสิ้นปีนี้ทั้งหมด ส่วนปีหน้าเป็นเครื่องบินรับมอบใหม่ B777-300 ER อีก 3 ลำช่วงต้นปี เป็นเครื่องบินที่สั่งไว้ก่อนที่การบินไทยเข้าแผนฟื้นฟู

ส่วนเครื่องบินที่เหลือต้องขาย ถ้าเป็นของการบินไทยเอง มีทั้งหมด 42 ลำ ถ้าเป็นเครื่องเช่าก็เจรจาคืนผู้ให้เช่าไปมีทั้งหมด 16 ลำ ส่วนเครื่องบินที่จะขายหลายเครื่องเป็นเครื่องที่เก่ามาก เช่น B747 มีอยู่ 10 ลำ เป็นเครื่องเก่าแก่ ประสิทธิภาพไม่ดีจะขายทั้งหมดเครื่อง B 737-400 A 340-500 A 340-600 เป็นเครื่องที่เปลืองน้ำมันมากมีทั้งหมด 9 ลำ ส่วนอีก 1 ลำ ขายไปให้กองทัพอากาศไปหลายปีแล้ว ดังนั้นเครื่องที่อยู่ระหว่างการขาย 42 ลำ โดย 12 ลำ มีการลงนามในสัญญาแล้ว

ล่าสุด B747-400 จำนวน 10 ลำ A 300-600 จำนวน 1 ลำ ลงนามไปเมื่อ 10 วันที่ผ่านมา เพิ่งส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคม เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะ การโอนเครื่องบินจะต้องได้รับลายเซ็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “หวังว่าจะได้รับอนุมัติการโอนในไม่ชักช้า” 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight