Business

วอนรัฐอัดฉีด ‘ช้อปดีมีคืน’ ชี้อานิสงส์คลายล็อก ดันดัชนีเชื่อมั่นค้าปลีก ก.ย. พุ่ง 2 เท่า

สมาคมค้าปลีกไทย วอนรัฐอัดฉีด “ช้อปดีมีคืน” ด่วนจี๋ หวังปลุกมู้ดจับจ่ายไฮซีซั่น เผยผลคลายล็อก ดันดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 2 เท่า

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ มีข้อเสนอต่อภาครัฐ โดยเฉพาะการเร่งฟื้นโครงการ “ช้อปดีมีคืน” อย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ กระตุ้นมู้ดการจับจ่ายในช่วงไฮซีซั่นให้กลับมาคึกคัก

ช้อปดีมีคืน

นอกจากนี้ ภาครัฐควรใช้มาตรการทางภาษีเพื่อช่วยผู้ประกอบการ ด้านค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุข นอกเหนือจากการลดหย่อนภาษี 1.5 เท่าของค่าใช้จ่าย ATK การสร้างความชัดเจนในการนำมาตรการ Covid Free Setting และ Universal Prevention เพื่อให้สามารถปฎิบัติได้ง่ายและมีขั้นตอนที่ชัดเจน และเร่งฉีดวัคซีนให้เข้าถึงประชาชนมากกว่า 70% ของประชากรทั้งหมด

ล่าสุด สมาคมฯ ได้จัดทำผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกในเดือนกันยายน พบว่า ส่งสัญญาณที่ดีโตขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน เป็นผลจากมาตรการการผ่อนปรนให้เปิดกิจการและธุรกิจเพิ่มเติม ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์

การคลายล็อกครั้งล่าสุด ส่งผลให้ความถี่ในการจับจ่าย Frequency of Shopping เพิ่มมากขึ้น แต่ยอดการใช้จ่ายต่อครั้ง Spending per Basket เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และต้องการการกระตุ้นจากภาครัฐเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ

ประเด็นสำคัญดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีก

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) เดือนกันยายน 2564 ปรับตัวดีขึ้นกว่า 2 เท่าอย่างชัดเจน จากที่ระดับ 25.0 ในเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ระดับ 59.0 ในเดือนกันยายน หลังการประกาศผ่อนคลายมาตรการฯ ของรัฐ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็ปรับตัวดีจากระดับที่ 47.8 เดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ระดับ 63.8 ในเดือนกันยายน ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 25%

ค้าปลีก1

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมเดือนกันยายน ดีขึ้นอย่างชัดเจนในทุกภูมิภาค และอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ยกเว้น ภาคเหนือ และภาคใต้ ซึ่งยังต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ต่อเนื่องมานับจากเดือนพฤษภาคม เนื่องจากถูกผลกระทบจากการท่องเที่ยว ที่หดหาย และการเลื่อนการบินภายในประเทศ
  • ดัชนีความเชื่อมั่น แยกตามประเภทร้านค้าปลีก มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกประเภทธุรกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง (Hard Line)
  • ร้านค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อ ที่ดัชนีความเชื่อมั่นยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 เป็นผลจากมาตรการเคอร์ฟิว ส่งผลกระทบยอดขาย ในรอบดึกซึ่งมีสัดส่วนราว 35% ของยอดขายต่อวันหายไป รวมถึงมาตรการ WFH และการปิดสถานศึกษา ส่งผลให้ปริมาณลูกค้าลดน้อยลง

การประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อ จากมุมมองผู้ประกอบการ ในเดือนกันยายน 

1. 68% ผู้ประกอบการคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 น่าจะหดตัวถึง 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

2. 57% ผู้ประกอบการระบุว่ายอดขายในไตรมาส 3 น่าจะลดลงมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีที่แล้ว

3. 73% ของผู้ประกอบการคาดว่า สถานการณ์จะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ซึ่งเป็นผลจากการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนได้ตามเกณฑ์

ค้าปลีก2

4. 26% จะเปิดเป็นบางส่วนหรือปิดชั่วคราว แม้ว่าภาครัฐจะผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ก็ตาม

5. ปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจของในสถานการณ์ปัจจุบัน

  • 83% มาตรการเคอร์ฟิวมีผลต่อยอดขายมาก
  • 58% กำลังซื้อผู้บริโภคหดหาย ไม่ฟื้นตัวเร็ว
  • 42% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น
  • 33% มีบุคคลากรที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอีกมาก
  • 33% ค่าใช้จ่ายตามประกาศ Covid Free Setting บานปลาย
  • 6. 90% ไม่มีความมั่นใจในนโยบายที่ภาครัฐประกาศจะเปิดประเทศ 120 วัน

จะเห็นได้ว่ามาตรการผ่อนปรนฯ เป็นกุญแจสำคัญที่เรียกความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจกลับคืนมา และยังเป็น การสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบค้าปลีกและบริการได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรเร่งการกระจายการฉีดวัคซีน ให้ได้ 70% ของประชากรทั้งประเทศตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ เพื่อจะได้เปิดประเทศอย่างปลอดภัยและเร็วที่สุด

“อีกปัจจัยที่สำคัญ ที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของปีนี้ ผมขอเสนอให้นำมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาใช้อย่างเร่งด่วน เพราะจะเป็นการอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ”นายฉัตรชัย กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo