Business

CEA ปั้นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำร่อง 15 จังหวัด ร่วมกระตุ้นท่องเที่ยว ฟื้นเศรษฐกิจไทย

CEA ปั้น 15 จังหวัดนำร่อง พัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเมืองสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย หรือ Thailand Creative District Network (TCDN) ชู พะเยา เลย นครศรีธรรมราช ต้นแบบขยาย 30 ย่านปี 2565 ฟื้นท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ ขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เปิดเผยว่า จากแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในประเด็นการท่องเที่ยว ที่ภาครัฐมีแนวทางการพัฒนา ปัจจัยแวดล้อมพื้นฐานให้เอื้อต่อการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว

Cea3

 

สำหรับแผนแม่บทฯ ดังกล่าว จะเน้นการส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และการออกแบบ การสร้างนวัตกรรม การส่งเสริมการลงทุน การสร้างเครือข่ายวิสาหกิจการท่องเที่ยว การสื่อสารและการคมนาคม การพัฒนาระบบฐานข้อมูล การส่งเสริมการตลาด และการดำเนินการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามภารกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างเรื่องราวเพื่อบอกเล่านักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ CEA ได้ดำเนินการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามภารกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2563 – 2565 ว่าด้วยการพัฒนาเมือง ระบบนิเวศสร้างสรรค์ และผลักดันกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ผ่านการเพิ่มพื้นที่เมืองสร้างสรรค์ โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนเมือง ชุมชน หรือย่านสร้างสรรค์ จำนวน 30 ย่าน/แห่ง ภายในปี 2565

จากแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว CEA เปิดตัว “โครงการเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย หรือ Thailand Creative District Network (TCDN)” เพื่อการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเมืองสร้างสรรค์ ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่

1. สร้างเครื่องมือและกลไกในการยกระดับพื้นที่ให้เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์

2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์

3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสภาวะที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ การเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจสร้างสรรค์และธุรกิจสนับสนุนบนศักยภาพของย่าน

4. การสร้าง เผยแพร่และส่งเสริม สื่อสาร บริหารการรับรู้อัตลักษณ์ย่านสร้างสรรค์

5. การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาย่านสร้างสรรค์

โครงการเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย หรือ TCDN จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยที่มีศักยภาพ และมีสินทรัพย์ที่สามารถต่อยอดได้

ที่สำคัญคือ คนในพื้นที่ต้องมีความพร้อม และต้องการพัฒนาพื้นที่นั้น ๆ ให้กลายเป็น “ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อค้นหาจุดเด่น สร้างมูลค่าให้กับวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิมที่มีอยู่ ไปจนถึงยกระดับคุณภาพขีวิต ภายใต้หัวใจสำคัญของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

“ความร่วมมือดังกล่าว จะนำไปสู่การเชื่อมโยงถึงกันเป็น เครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างย่าน ไปจนถึงระหว่างเมือง สู่การขับเคลื่อนจังหวัดต่างๆ ให้กลายเป็น “เมืองสร้างสรรค์” ในเวทีโลกต่อไป”นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของผู้คนที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาย่าน และเมืองให้ดีขึ้น ทั้งในด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทำให้เกิดการวางแผนการพัฒนาย่านในระยะยาว ส่งผลต่อกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในย่าน

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการดึงดูดนักลงทุน กลุ่มนักออกแบบ และศิลปินให้กลับมาทำงานในย่านบ้านเกิด นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และการสร้างอาชีพในเมือง ซึ่งจะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และวัฒนธรรม ซึ่งจะมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย

การดำเนินโครงการฯ ในระยะแรก จะเริ่มดำเนินการใน 15 จังหวัดนำร่อง โดยมี 3 จังหวัดที่เป็นไฮไลต์ ได้แก่ พะเยา เลย และนครศรีธรรมราช พร้อมวางเป้าหมายใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน 3-5 ปี

พื้นที่นำร่อง 15 จังหวัดปั้นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ภาคเหนือ

1. เชียงราย

ย่านในเวียง (สิงหาคม-กันยายน 2564) เมืองแห่งศิลปะเพื่อทุกคน จัดกิจกรรมเส้นทางท่องเที่ยวเชิงภูมิวัฒนธรรม (Cultural Landscape) ผ่านรูปแบบกิจกรรม 3 ด้าน ได้แก่

  • พัฒนาเครือข่ายนักสร้างสรรค์และคณะทำงานขับเคลื่อนพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์
  • พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงภูมิวัฒนธรรม
  • พัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่
  • จัดทำเวิร์คชอป Service design เพื่อพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวและการเดินในย่านเมืองเก่า จัดทำต้นแบบ เพื่อรองรับการสมัครเข้าร่วมเครือข่ายองค์การยูเนสโก

รูปแบบการดำเนินงาน จะเน้นการนำเสนอผลงานศิลปะสร้างสรรค์กึ่งถาวร โดยเครือข่ายศิลปิน เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ของพื้นที่ และภายในปี 2565 CEA จะร่วมกับ เชียงราย ช่วยสนับสนุนในการผลักดันให้จังหวัดได้รับคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านขับเคลื่อนเชียงรายสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network, City of Design) ต่อไป

พะเยา2

2. พะเยา

ย่านระเบียงกว๊าน (สิงหาคม 2564) เมืองแห่งชีวิตนวัตวิถี จัดกิจกรรมการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะแบบถาวรหรือกึ่งถาวร (Creative Hub) ดังนี้

  • เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ประจำย่าน “AR(T)CADE” พื้นที่แสดงผลงานสำหรับศิลปินรุ่นใหม่
  • เปิดตลาดนัด Made in Phayao ที่หยิบจับจุดเด่นของจังหวัดมาเล่าในมุมมองคนรุ่นใหม่
  • กิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ย่านระเบียงกว๊าน (Creative Festival) ผ่านการจัดเทศกาลศิลปะและการสร้างสรรค์ “Phayao Arts & Creative Festival” ครั้งแรก โดยได้จัดกิจกรรมไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

พะเยา

3. น่าน

ย่านเมืองเก่าน่าน (สิงหาคม-กันยายน 2564) เมืองมรดกวิถีล้านนา จัดกิจกรรมต้นแบบโครงการ ประกอบด้วย

  • การพัฒนาเครือข่ายนักสร้างสรรค์ และคณะทำงานขับเคลื่อนพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์
  • สำรวจและสรรหาพื้นที่ในย่านเมืองเก่าน่าน ที่เหมาะสมต่อการจัดกิจกรรมการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบ
  • ปรับปรุงพื้นที่กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป
  • จัดทำแผนที่ท่องเที่ยวเส้นทางสินทรัพย์สร้างสรรค์ (Creative Map) ย่านเมืองเก่า

4. ลำพูน

ย่านเมืองเก่าในคูเมือง (สิงหาคม-กันยายน 2564) เมืองแห่งวิถีชีวิตยั่งยืน (Livable city) โดยมีกิจกรรม ได้แก่

  • กิจกรรม Portrait of Lamphun นิทรรศการภาพถ่ายคนในชุมชนลำพูน
  • นิทรรศการด้านภูมิทัศน์และอินเทอร์แอคทีฟ
  • สร้าง Storytelling ดันกลยุทธ์ทางการตลาดออนไลน์ ในรูปแบบสื่อออนไลน์อินเทอร์แอคทีฟ

ภาคกลาง

​1. สุโขทัย

เมืองช่างต่อยอด จัดกิจกรรมต่าง ๆ ด้านงานช่างฝีมือ ทั้งช่างทอผ้า ช่างทอง ช่างทำเครื่องปั้นดินเผา ช่างสังคโลก ที่นำงานช่างต่างๆ มาพัฒนาต่อยอดให้เป็นของร่วมสมัย เพื่อตอบโจทย์ตลาดในปัจจุบัน หรือการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว

2. สุพรรณบุรี 

ย่านโรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก (สิงหาคม 2564) เมืองแห่งจิตวิญญาณดนตรีพื้นบ้าน

  • จัดกิจกรรมที่มุ่งเน้น ดนตรีพื้นบ้านร่วมสมัย เช่น การดัดแปลงเสียงหรือเนื้อร้องหรือทำนอง เป็นต้น
  • นำเสนอผลงานในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ ที่ช่วยสร้างความน่าสนใจและสร้างการรับรู้ในพื้นที่กลางแจ้งสาธารณะ
  • ภายในปี 2565 CEA ร่วมผลักดันจังหวัดสุพรรณบุรี สู่เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network, City of Music)

3. นครปฐม

ย่านเมืองนครปฐม (สิงหาคม 2564) ศูนย์กลางแห่งเสียงดนตรีและวิถีธรรมชาติเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

  • จัดโครงการผสมผสานศาสตร์ด้านดนตรี ทัศนศิลป์และระบบอินเตอร์แอคทีฟที่ ปรับโฉมดนตรีในรูปแบบใหม่ พร้อมยกระดับ ย่านเมืองนครปฐมและย่านศาลายา เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์นำร่องของจังหวัด
  • ภายในปี 2565 CEA ร่วมผลักดันจังหวัดนครปฐม สู่เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network, City of Music) ต่อไป

4. ระยอง

ย่านเมืองเก่าระยอง (สิงหาคม 2564) ย่านวิถีย้อนยุคท่ามกลางเมืองอุตสาหกรรมใหม่ ดำเนินโครงการ ดังนี้

  • การส่งเสริมความรู้การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในรูปแบบการจัดกิจกรรมบรรยาย หรือ เสวนา (Creative Talk & Think)
  • การจัดทำแผนที่เส้นทางท่องเที่ยวย่านยมจินดาและเมืองเก่าระยอง
  • การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์และดึงดูดคนเข้ามาในย่าน
  • จัดกิจกรรมทดลองในพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่
  • กิจกรรมทดสอบเส้นทางท่องเที่ยว

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

1. สกลนคร

ย่านเมืองเก่าสกลนคร (สิงหาคม 2564) ย่านคราฟท์เมืองครามด้วยพลังคนรุ่นใหม่

  • จัดกิจกรรม แผนที่เส้นทางเดินในย่านเมืองเก่า ในรูปแบบกายภาพและออนไลน์ ป้ายเล่าเรื่อง (Story-telling)
  • นิทรรศการต้นแบบการส่งเสริมงานออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์พื้นถิ่น
  • กิจกรรมแสดงแนวคิด ต้นแบบการสร้างมูลค่าเพิ่มในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
  • นำเสนอการแปรรูปวัตถุดิบท้องถิ่นสู่อาหารสร้างสรรค์

2. นครราชสีมา

ย่านบ้านดู่-บ้านจะโปะ (สิงหาคม 2564) เมืองแห่งภูมิปัญญาไหมไทยแบบครบวงจรระดับอินเตอร์ ประกอบด้วย

  • นิทรรศการและกิจกรรมที่มาจากเรื่องราวสินทรัพย์ผ้าไหม และอัตลักษณ์ของย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์บ้านดู่-บ้านจะโปะ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
  • กิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านผ้าไหมจังหวัดนครราชสีมา

เลย 1

3. เลย

ย่านบ้านเดิ่น และบ้านด่านซ้าย (กรกฎาคม-สิงหาคม 2564) เมืองหนาวแห่งอีสาน แหล่งอุดมธรรมชาติและวัฒนธรรมชาติพันธุ์ ประกอบด้วย

  • การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ (Public space) แห่งใหม่ของย่าน ผ่านศิลปะและประเพณีดั้งเดิม “ผีตาโขน” ในมุมมองใหม่ เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ คน-เมือง และ คน-ประเพณีผีตาโขน สู่การต่อยอดทุนทางวัฒธรรมดั้งเดิม
  • การพัฒนาภูมิทัศน์ให้กับชุมชน
  • การมีพื้นที่สาธารณะด้านการเรียนรู้ศิลปะสำหรับเยาวชน
  • การนำเสนอวิถีชีวิตของชาวไทด่านซ้ายในแง่มุมการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ ผ่านการจัด เทศกาลเลยอาร์ตเฟส 2564 หรือ Loei Art Fes 2021 (LAF) เลยอาร์ตเฟส

 

เลย

4. อุบลราชธานี

ย่านเมืองเก่า ฝั่งอำเภอเมือง และย่านเมืองเก่า ฝั่งวารินชำราบ เมืองแห่งปราชญ์-ปรัชญา-ภูมิปัญญาริมฝั่งโขง จัดแสดงผลงานออกแบบภาพเคลื่อนไหว (Projection Mapping)

ภาคใต้ 

1. นครศรีธรรมราช

ย่านท่ามอญ และท่าวัง (สิงหาคม 2564) แหล่งกำเนิดอารยธรรมการค้าหลากวัฒนธรรมแห่งเมืองคอน

  • จัดกิจกรรมเทศกาลงานสร้างสรรค์ “ครีเอทีฟนคร” ครั้งที่ 4 ในรูปแบบนิทรรศกาลศิลปะ เสวนา เวิร์กชอป อีเวนต์ และตลาดนัดสร้างสรรค์

นคร2

2. สงขลา

ย่านเมืองเก่า (กันยายน 2564) ย่านวิถีทะเลเหนือกาลเวลาที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วย

เมด อิน สงขลา (Made in Songkhla) โครงการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจของคนในพื้นที่ ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ มาต่อยอดธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม ร่วมกับนักออกแบบ นักสร้างสร้างสรรค์ในพื้นที่ และนอกพื้นที่ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

3. ปัตตานี

ย่านอา-รมย์-ดี (สิงหาคม 2564) ย่านพหุวัฒนธรรมแห่งมิตรภาพสำหรับทุกคน

  • จัดเทศกาลงานสร้างสรรค์ “PATTANI DECODED ถอดรหัสปัตตานี” ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “เช้าชาม เย็นชาม” โดยเน้นอุตสาหกรรมอาหาร
  • นิทรรศการที่มีเนื้อหาและรูปแบบที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ย่านอา-รมย์-ดี สู่ย่านสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ และอาหาร

นคร

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Phayao Arts & Creative Festival, Loei Art Fes 2021 (LAF), Creative Nakhon

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo