อุตฯอาหารไทย 7 เดือนแรก การผลิตเพิ่มขึ้น 2.9% ส่งออกโต 4.5% คาด 5 เดือนหลัง โตแกร่งสวนโควิด-19 ผลจากบับเบิล แอนด์ ซีล เดินเครื่องผลิตได้ไม่ต้องปิดโรงงาน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 พลิกกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังจากหดตัวลงในปีก่อน โดยการผลิตที่วัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เพิ่มขึ้น 2.9%
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนให้อุตฯอาหารกลับมาเติบโต เป็นผลมาจากการที่ภาคธุรกิจใช้มาตรการ บับเบิล แอนด์ ซีล เพื่อควบคุมความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงาน ทำให้โรงงานส่วนใหญ่ สามารถเดินสายการผลิตได้ตามปกติ
นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบภาคเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่งผลให้วัตถุดิบสินค้าเกษตรมีเพียงพอกับความต้องการของโรงงานแปรรูป โดยเฉพาะอ้อย มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ต่าง ๆ
ขณะที่ มาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชนชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ภายใต้โครงการต่าง ๆ อาทิ เราชนะ คนละครึ่ง โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอาหาร
ด้านการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกพบว่า มีมูลค่า 622,700 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
ทั้งนี้พบว่า การส่งออกไปจีนขยายตัวเพิ่มขึ้น 40% ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปก็มีสัญญาณการฟื้นตัวเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับความต้องการที่ถูกอั้นไว้ในช่วงล็อกดาวน์ และปิดร้านอาหารนานหลายเดือน
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยใน 5 เดือนหลังยังจะโตแกร่งสวนทางโควิด-19 โดยคาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้น 5% การส่งออกเพิ่มขึ้น 11% คิดเป็นมูลค่า 427,300 ล้านบาท
คาดอุตฯอาหาร ทั้งปีโตทั้งผลิต-ส่งออก
สำหรับทั้งปี 2564 ประเมินว่า การผลิตจะเพิ่มขึ้น 4.% การส่งออกจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% จากปี 2563 โดยมีปัจจัยหนุนมาจาก ความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อระบบการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารของไทยในครึ่งปีหลัง อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้าสู่สถานประกอบการ จะกระทบต่อกำลังการผลิตและส่งมอบสินค้า การกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้หลายประเทศอาจต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมการระบาด จะส่งผลทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าชะลอตัวลง
อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงจากค่าระวางเรือยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง รวมถึงทางการจีนอาจชะลอการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากการที่เร่งนำเข้ามาตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งอาจส่งผลทำให้การส่งออกอาหารของไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ผู้ว่าฯอัศวิน’ เอาจริง! เตือนร้านอาหารทั่วกรุงฝ่าฝืนสั่งปิดทันที!
- ข่าวดี!!ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร สสว. – SME D Bank ขยายเวลายื่นกู้ เช็คที่นี่
- แนะเคล็ดลับร้านอาหาร 3 วิธีรักษาลูกค้า ช่วงโควิด -19