Business

การรถไฟฯ ชี้แจงทุกข้อหา ฮั้วประมูล ‘รถไฟทางคู่’ สายเหนือ-อีสาน 1.28 แสนล้าน

การรถไฟฯ โต้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ชี้แจงทุกข้อหา ฮั้วประมูล รถไฟทางคู่ สายเหนือ-อีสานมูลค่า 1.28 แสนล้านบาท ยันทำตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง กระทรวงการคลัง เคร่งครัด

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่มีประเด็นการกล่าวอ้างของ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน โดยการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Mana Nimitmongkol หัวข้อ เรื่อง “ความโปร่งใสที่ไม่จริงใจ ชั่วร้ายยิ่งกว่าโกงซึ่ง ๆ หน้า” กล่าวหา ฮั้วประมูล รถไฟทางคู่ สายเหนือ-อีสาน มูลค่ารวม 1.28 แสนล้าน ขอชี้แจง ดังนี้

ฮั้วประมูล รถไฟทางคู่

1. กติกาถูกเปลี่ยน ก่อนการประมูล

การกล่าวหาว่า กติกาถูกเปลี่ยนก่อนการประมูล รฟท. ได้มีการปรับเปลี่ยนการแบ่งสัญญา 6+1 ของซูปเปอร์บอร์ด เป็น 3 สัญญา รวมการติดตั้งอาณัติสัญญาณ เหมือนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติรอบแรก เพราะมีประสบการณ์เปรียบเทียบสัญญาใหญ่รวม SNL ในทางคู่เส้นทางสายชุมทางจิระ กับชุมทางแก่งคอย เป็นโครงการที่มีความสำเร็จเสร็จใกล้เคียงเป้าหมาย ล่าช้าเพียง 6 เดือน จากปัจจัยภายนอก เช่น การเวนคืน และการปรับแบบสถานีบ้านไผ่ที่มีชาวบ้านเรียกร้องมา

ส่วนทางคู่เฟส 1 ทั้ง 3 สายทาง แบ่งแยก SNL ปัจจุบันพบว่า กำหนดแล้วเสร็จของโครงการ จะล่าช้าออกไปมากกว่า 2 ปี เพราะมีความล่าช้า ตั้งแต่การประกวดราคา inter bid ของงานระบบอาณัติสัญญาณ และการประสานการทำงาน การส่งต่อข้อมูล การมอบพื้นที่ ระหว่างงานโยธากับ SNL

ดังนั้น จึงเป็นประสบการณ์ว่า การแบ่งสัญญาใหญ่รวม SNL มีผลกับความสำเร็จในการดำเนินงาน มากกว่าการแบ่งเป็นสัญญาย่อย ซึ่งไม่ได้เป็นหลักประกันว่า จะเกิดการแข่งขันราคาได้อย่างสมบูรณ์ ยิ่งด้วยสถานการณ์ ค่าวัสดุเหล็กปรับตัวสูงขึ้นถึง 40% ในการประกวดราคาครั้งนี้

2. แบ่งเค้ก-ฮั้วราคา หรือไม่?

การกล่าวหาว่า มีการแบ่งเค้ก และฮั้วราคา เป็นเรื่องของการคาดเดา และเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ของผู้กล่าวหา ในส่วนของ รฟท. ได้ดำเนินการทุกอย่าง ตามระเบียบขอบเขตของ รฟท. มีการตรวจสอบการมีผลประโยชน์ร่วมกัน ของผู้ยื่นข้อเสนอ อย่างครบถ้วน

ในส่วนของการยื่น ไม่ยื่น หรือยื่นอย่างไร ของผู้ประกอบการเราไม่รู้ได้ รฟท. ได้ดำเนินการทุกขั้นตอนของการประกวดราคา ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัดแล้ว

สำหรับระบบการประกวดราคาแบบ e-Bidding เป็นระบบที่ได้พัฒนารูปแบบ จากการประกวดราคา ด้วยวิธีการยื่นซอง เป็นการประกวดราคาแบบ e-Auction จนกระทั่งเป็นการประกวดราคาแบบ e-Bidding ซึ่งถือว่าเป็นระเบียบที่มีความโปร่งใสมากที่สุดในปัจจุบัน ของทางราชการ

1 6

3. กลุ่มผูกขาด ไม่เชิญต่างชาติเข้าแข่งขัน

รฟท. ดำเนินการตามนโยบาย Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน เป็นการสนับสนุนการจ้างงานในประเทศไทย จึงกำหนดให้ถ้ามีบริษัทที่ยื่นประมูลเป็นคนไทย สามารถยื่นประมูลได้ แต่หากยื่นเป็นกลุ่มผู้นำกลุ่มต้องเป็นคนไทย

อย่างไรก็ตาม งานก่อสร้างอุโมงค์ ต้องมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้เพิ่มการแข่งขัน ของงานก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย เชียงราย เชียงของ ซึ่งกำหนดให้งานอุโมงค์ผู้ที่จะยื่นประมูล สามารถนำผลงานในไทย หรือใช้ผลงานจากต่างประเทศได้

กรณีหากผู้ร่วมประมูลเป็นต่างชาติ ก็สามารถเข้าร่วมกับบริษัทของไทย ที่มีผลงานทางรถไฟ นอกจากนั้นแล้ว 2 โครงการนี้ รฟท. ใช้เงินกู้ภายในประเทศ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ ยังซบเซา คงต้องส่งเสริมและกระตุ้นธุรกิจภายในประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ

4. ถูกกฎหมาย แต่ขัดใจประชาชน

รฟท. ขอยืนยันว่า การดำเนินงานทุกอย่าง เป็นไปตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ของ กระทรวงการคลัง อย่างเคร่งครัด ในช่วงเผยแพร่เอกสารประกวดราคา แบบ ราคากลาง และเอกสารอื่น ๆ ทั้งหมด ได้มีการนำลงในเวบไซต์กรมบัญชีกลาง และการรถไฟฯ ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 พร้อมกับมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกัน ผู้ประกอบการ และผู้สนใจ สามารถเข้าดูและโหลดเอกสารได้ อีกทั้ง สามารถให้ความเห็นผ่านช่องทางที่กำหนด

“จริง ๆ ผู้ที่วิจารณ์ในตอนนี้ก็สามารถเข้าดู และแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่ช่วงดังกล่าว แล้วผู้กล่าวอ้าง มั่นใจอย่างไร ว่าขัดใจประชาชนไปทั้งหมด ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ต่างรอคอย เฝ้ารอโครงการอย่างจดจ่อ เพื่อเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ในจังหวัด”การรถไฟฯ ระบุ

5. ฮั้วประมูล รถไฟทางคู่ อย่าปล่อยตามยถากรรม

รฟท. รับหน้าที่จากรัฐบาล ให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ทั้ง 2 เส้นทางนี้ ให้ลุล่วงตามเป้าหมาย และแผนงานที่วางไว้ หากจะมองแต่เรื่องการประมูลงานอย่างเดียว คงไม่ได้ ต้องมองความสำเร็จภาพรวมของงาน ที่ได้รับมอบหมาย และเป็นไปตามเวลาที่วางไว้เป็นสำคัญอีกด้วย

การแก้ปัญหา

สำหรับประเด็นการกล่าวหาดังกล่าว รฟท. ไม่ได้นิ่งเฉย ได้มีการมอบหมายให้ ที่ปรึกษาการประกวดราคา ตรวจสอบยืนยัน ความเหมาะสมของเงื่อนไข และราคากลางของงาน พบว่า ราคากลาง ราคาค่าก่อสร้างทั้ง งานโยธา งานทางรถไฟ และอาณัติสัญญาณฯ เฉลี่ย ต่อ กม. ของโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และทางคู่สาย บ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม มีราคาต่อ กม. ต่ำกว่าโครงการทางคู่ที่ก่อสร้างมาก่อนหน้านี้ทุกสาย

นอกจากนี้ ยังพบว่า ราคาค่าก่อสร้างอุโมงค์ ต่อ กม.ของคู่สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ต่ำกว่างานก่อสร้างอุโมงค์ ช่วงมาบกะเบาในทางคู่ ระยะที่ 1 ของสายตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งๆ ที่สภาพพื้นดินสายเด่นชัยฯ เป็นชั้นหินผุ ซึ่งทำงานยากกว่า

ดังนั้น จึงพิสูจน์ได้ว่า ราคากลาง ของโครงการทางคู่สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และทางคู่สาย บ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม มีราคาที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับทางราชการสูงสุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo