Business

‘ศักดิ์สยาม’ แจงงบคมนาคมลงทุนทุกระบบ -ย้ำประมูลรถไฟทางคู่สายเด่นชัย ‘โปร่งใส’

“ศักดิ์สยาม” แจงยิบแผนลงทุนในงบประมาณประจำปี 2565 ยันไม่ได้ทุ่มงบสร้างถนนอย่างเดียว พร้อมโชว์ Master Plan แผนก่อสร้างระบบขนส่ง เพิ่มทางเลือกเดินทางของประชาชน ย้ำประมูลรถไฟทางคู่สายเด่นชัย- เชียงราย – เชียงของ โปร่งใส

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงเกี่ยวกับแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในการอภิปรายงบประมาณประจำปี 2565 โดยขอชี้แจงถึง งบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปี 2565 มี 2 ส่วนคือส่วนแรก เป็นงบประมาณปกติ วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท ส่วนที่ 2 เป็นเงินนอกงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท เป็นไปตามนโยบายนายกรัฐมนตรีว่า ถ้าจะใช้งบประมาณอย่างเดียวคงไม่สามารถขับเคลื่อนการลงทุนตามเป้าหมายได้

ดังนั้นการผลักดันโครงการ โดยจัดใช้เงินนอกงบประมาณจะเข้ามาช่วยเรื่องนี้ แบ่งออกเป็นการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี), เงินกู้กระทรวงคลัง และงบกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ทั้ง 3 ส่วนเป็นเงินนอกงบประมาณ เมื่อนำมาพิจารณาจะเห็นว่า 4 มิติ ระบบขนส่งของกระทรวงฯ ทั้งน้ำ ราง บก  อากาศ เงินงบประมาณที่ใช้ลงทุนมากสุด  1.ระบบราง 240,000 ล้านบาท ซึ่งผูกพันไปอีก 3-4 ปี 2.ทางบก 190,000 ล้านบาท 3.ทางอากาศ 18,000 ล้านบาท 4.ทางน้ำ 6,000 ล้านบาท

ศีกดิ์สยาม33

 

การดำเนินโครงการพัฒนาเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์ เนื่องจากถนนมิตรภาพมีการจราจรที่ติดขัด มีผู้ใช้รถใช้ถนนช่วงเวลาปกติกว่า 76,000 คัน/วัน ส่วนช่วงเทศกาล มากกว่า 110,000 คัน/วัน เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในเส้นทาง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา มีความจำเป็นมาก เพราะ 1. บางปะอิน-นครราชสีมา เป็นเส้นทางสั้นที่สุดที่ออกสู่ภาคอีสานกว่า 20 จังหวัด รองรับการเดินทางของประชาชน 22 ล้านคน 2. กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นประตูสู่อีสาน 3. กรุงเทพฯ- นครราชสีมา เป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน 4. ข้อจำกัดของลักษณะกายภาพพื้นที่ ด้านทิศตะวันตกเป็นแนวเชื่อมและด้านตะวันออกเป็นแนวเขา

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายต่อกระทรวงคมนาคม ว่า หากมีการก่อสร้างขอให้พิจารณาเกณฑ์ ในการกำหนดแนวถนนตามข้อสั่งการ 5 เรื่อง 1. ตัดถนนแนวตรงทำให้การสัญจรสะดวก ลดปัญหาอุบัติเหตุ 2. ไม่ผ่านเข้าชุมชน ไม่ซ้ำแนวถนนเดิม 3. พัฒนาความเจริญเข้าสู่พื้นที่ใหม่ 4. สร้างชุมชนเมืองใหม่ 5. แยกการจราจรในเมืองใหม่ออกจากการเดินทางระหว่างเมือง กระทรวงคมนาคมจึงได้ดำเนินการจัดทำ Master plan หรือเรียกว่า MR-MAP ซึ่งบูรณาการการก่อสร้าง รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์ ให้สร้างในแนวเดียวกัน  โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาใช้งบมอเตอร์เวย์ กรมทางหลวง (ทล.) ร่วมก่อสร้างในพื้นที่แนวเดียวกับมอเตอร์เวย์ มี 9 เส้นทาง รวมระยะทาง 5,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ แบ่งเป็น

Sequence 01.00 00 36 11.Still001

แนวเหนือใต้ (N-S) มี 3 เส้นทาง ระยะทาง 2,620 กม. ได้แก่ 1.เชียงราย-สงขลา เชื่อมเขตเศรษฐกิจเหนือใต้และเพื่อนบ้าน 2.หนองคาย-แหลมฉบัง เชื่อมอีอีซี  และ 3.บึงกาฬ-สุรินทร์ เชื่อมกับฝั่งลาว

ส่วนแนวตะวันออก-ตะวันตก (E-W) มีอยู่  6 เส้นทาง ระยะทาง 2,380 กม.  ได้แก่ 1. ตาก-นครพนม 2. กาญจนบุรี-อุบลราชธานี  3. กาญจนบุรี-สระแก้ว 4. กาญจนบุรี-ตราด 220 กม. 5. ชุมพร-ระนอง และ 6. ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี หากการดำเนินตามแผน MR-MAP แล้วเสร็จ จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และงบประมาณ

ขณะนี้โครงการนำร่องพิจารณาลำดับความสำคัญ โดยจะทำการศึกษาความเหมาะสมใน 3 เส้นทางก่อน คือ 1. เส้นทางชุมพร -ระนอง เพราะมีความสำคัญเชื่อมเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ 2. เส้นทางอีอีซี.เชื่อมแลนด์บริดจ์ และ 3. เส้นทางจากอีอีซี.เชื่อม จังหวัดนครราชสีมา เพื่อกระจายสินค้าจากพื้นที่อีอีซีเข้าภาคอีสานและประเทศเพื่อนบ้าน เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายขนส่งสินค้าลดต้นทุน อีกทั้งจะลดปัญหาการเวนคืนที่ดิน การแยกชุมชนหลายครั้ง รวมไปถึงลดการลงทุนของภาครัฐเหลือแต่เฉพาะค่าเวนคืนที่ดิน เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนลักษณะพีพีพีทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อลดภาระให้กับประเทศ

สำหรับโครงการโครงการแลนด์บริดจ์ เป็นการขนส่งเชื่อมโยง 2 ฝั่งท่าเรือน้ำลึก ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอน การคัดเลือกที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึก ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ขาดภายใน 1 ปี จะทราบผลการศึกษา

ส่วนประเด็นกรมทางหลวง ทางหลวงชนบท (ทช.) และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รับผิดชอบโครงข่ายถนนได้ไม่ดีนั้น ต้องชี้แจงว่าปัจจุบันโครงข่ายถนน 7 แสนกิโลเมตร ทาง ทล.รับผิดชอบ 5.2 หมื่นกิโลเมตร ส่วน ทช. 4.8 หมื่นกิโลเมตร และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แสนกิโลเมตร มีการแบ่งกันชัดเจน

อภิปราย ศักดิ์สยาม.00 14 02 09.Still002

ขณะที่ประเด็นที่ระบุว่า ทุกจังหวัดไม่ต้องมีสนามบิน ขอชี้แจงว่าปัจจุบันไทยมีสนามบินของรัฐ 35 แห่ง 29 แห่งอยู่ที่กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เป็นสนามบินภายในประเทศ 6 แห่ง เป็นสนามบินระหว่างประเทศ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT การบริหารทั้งหมดในปี 2565 กระทรวงฯ มุ่งเน้นการลงทุนพัฒนาภูมิภาค ให้บริการประชาชน เป็นงบลงทุนต่อเนื่อง ไม่ได้เป็นการก่อสร้างใหม่ เช่น สนามบินจังหวัด กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง บุรีรัมย์ และขอนแก่น

นายศักดิ์สยาม ยังชี้แจงถึงกรณีการประมูลรถไฟทางคู่สายเด่นชัย- เชียงราย – เชียงของ ที่มีการกล่าวถึงการประกวดราคาไม่โปร่งใส โดยระบุว่า เรื่องนี้ใช้ระบบ ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยการรถไฟแห่งประเทศ (ร.ฟ.ท.) ได้ประกวดราคาเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท ยึดหลักตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ตามระบบ e-bidding มีความโปร่งใสมากที่สุด  รฟท.ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ดำเนินการโดยกรมบัญชีกลาง เดิมราคากลางที่ครมอนุมัติ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 แต่ปัจจุบันปี 2564 ต้นทุนราคาก่อสร้างได้ปรับสูงขึ้น เช่น ราคาเหล็กปรับสูงขึ้น 30% ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวได้มีการชี้แจง ทำความเข้าใจต่อสาธารณชน นักวิชาการ สื่อมวลชนอย่างละเอียดไปแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight