Business

รักษาโควิด-19 ฟรี!! 3 กองทุนสุขภาพ ออกโรงยืนยันชัดเจน จี้ สธ.คุม รพ.เอกชน ห้ามเก็บเงิน

รักษาโควิด-19 ฟรี กรมบัญชีกลาง ประกันสังคม สปสช. รวมตัวออกแถลงการณ์ ยืนยันสิทธิประชาชน ทั้งตรวจและรักษา จี้ สธ. บังคับใช้กฏหมายคุม รพ.เอกชนห้ามเก็บเงิน

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และ กรมบัญชีกลาง ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เรื่อง สิทธิผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หลังจากที่ผ่านมา ได้รับข้อร้องเรียนเป็นจำนวนมาก จากผู้ใช้สิทธิของทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ เกี่ยวกับการถูกเรียกเก็บเงินค่าตรวจ และค่ารักษา โดยเฉพาะกรณีเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชน โดยย้ำว่า รักษาโควิด-19 ฟรี ซึ่งสาระสำคัญของแถลงการณ์ดังกล่าวมี 3 ข้อ ดังนี้

รักษาโควิด-19 ฟรี

1. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง และเป็นไปตามเกณฑ์ที่ กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ประชาชนทุกคน ได้รับสิทธิดังกล่าว โดย สปสช. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าตรวจ ทั้งในโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน

2. อัตราค่าใช้จ่ายต่าง ๆ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 วันที่ 21 เมษายน 2563 และวันที่ 27 เมษายน 2564 เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกำหนดค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา สามารถเข้ารับบริการได้ในโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยโรงพยาบาลเอกชน ต้องส่งข้อมูลขอเบิกเงินตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว มายัง สปสช. จากนั้นทั้ง 3 กองทุน จะจ่ายเงินให้โรงพยาบาลเอกชนต่อไป ดังนั้น ขอให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

3. มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 เมษายน 2564 มอบหมายให้ กระทรวงสาธารณสุข เร่งสร้างการรับรู้ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ทั่วถึง เพื่อให้การป้องกันโรค และรักษาผู้ป่วย เป็นไปด้วยความเรียบร้อ ยและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้ง 3 กองทุน จึงเห็นพ้องต้องกัน ที่จะร่วมคุ้มครองสิทธิของประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ในการได้รับการป้องกัน และขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข บังคับใช้กฎหมาย กับโรงพยาบาลเอกชน ที่เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยทั้ง 3 กองทุนจะเฝ้าระวัง และแจ้งข้อมูลให้กระทรวงฯ ทราบต่อไป

กองทุน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การออกแถลงการณ์ครั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ประชาชนทุกคน ทุกสิทธิ จะได้รับการดูแล และขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชน เรียกเก็บเงินมาตามระบบ และอัตราค่าบริการ ที่ได้ตกลงกันไว้ และผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว รวมทั้งขอให้กระทรวงสาธารณสุข กำกับดูแลโรงพยาบาลเอกชน ให้ปฏิบัติตามกติกาดังกล่าว

ในส่วนของ สปสช.เอง ก็ได้ปรับรอบการจ่ายเงินให้เร็วขึ้น จากทุก 1 เดือน เป็นทุก 2 สัปดาห์ เพื่อสร้างสภาพคล่องแก่โรงพยาบาล ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้มีการพูดคุยกับผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ซึ่งทางโรงพยาบาลเอกชนเริ่มเข้าใจ และยอมรับระบบการเบิกจ่าย ตลอดจนอัตราค่าบริการที่กำหนดไว้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยยังถูกเรียกเก็บเงินอีก ขอให้ร้องเรียนเข้ามาได้ที่สายด่วน 1330 ของ สปสช. สายด่วน 1506 ของ สปส. หรือหมายเลข 021277000 ของกรมบัญชีกลาง

ส่วนกรณีมีข่าวทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีข้อเสนอให้ตัดสิทธิการรักษาฟรี แก่ผู้ที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนนั้น ขอยืนยันว่า ไม่มีการตัดสิทธิการรักษาฟรีใด ๆ ทั้งสิ้น สองเรื่องนี้ไม่สามารถนำมาปะปนกันได้ วัคซีนก็ขอความร่วมมือประชาชนไปรับการฉีด แต่ถ้าเจ็บป่วยขึ้นมา ก็ต้องดูแลรักษาฟรี

ด้าน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สปส.ขอให้ความมั่นใจแก่ผู้ประกันตนทุกคนว่า ถ้าติดเชื้อโควิด-19 ก็จะได้รับการดูแลรักษาเต็มที่เหมือนกองทุนอื่นๆ ทุกประการจนกว่าจะหาย ซึ่งหากถูกเรียกเก็บเงินสามารถติดต่อสายด่วน 1506 กด 1 ตลอด 24 ชม. หรือกด 6 ซึ่งจะเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 โดยเฉพาะ ในเวลาราชการ

ขณะที่ นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลาง จะดูแลผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการอย่างดีที่สุด ไม่ว่าจะไปโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน เรื่องงบประมาณก็ได้เตรียมไว้พร้อมแล้ว และสามารถจ่ายแก่โรงพยาบาลได้โดยตรงภายในเวลา 3 วัน หลังจากที่ได้รับข้อมูลการขอเบิกเข้ามา หากข้าราชการถูกเรียกเก็บเงิน ขอให้โทรมาที่เลขหมาย 021277000 ในเวลาราชการ หรือถ้านอกเวลาราชการสามารถติดต่อสายด่วน 1330 ของ สปสช. ก็ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo