Business

พิษโควิดซัด คนไทยตกงาน 6 ล้านคน เด็กจบใหม่เตะฝุ่นกว่า 1.3 ล้านคน

สสส. เปิดผลสำรวจ พิษโควิดซัด คนไทยตกงาน 6 ล้านคน คาดเด็กจบใหม่เตะฝุ่นกว่า 1.3 ล้านคน ผุดโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตในพื้นที่ควบคุม 20 จังหวัด มุ่งเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส

นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่ละระลอก สร้างผลกระทบโดยตรง กับวัยแรงงานอย่างรุนแรง จากภาวะเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก กระทบต่อรายได้ และความเป็นอยู่ของครัวเรือน ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชน โดยจากการสำรวจพบว่า คนไทยตกงาน แล้วกว่า 6 ล้านคน จากวิกฤติโควิด ที่เกิดขึ้น

คนไทยตกงาน

ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ที่ได้รับผลกระทบสูงสุด จากวิกฤติโควิด-19 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF Thailand) ปี 2563 พบว่า ประชาชนกลุ่มอายุ 15-24 ปี โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะเรียนจบ มีแนวโน้มที่จะว่างงาน เนื่องจากภาคเอกชนชะลอการจ้างงาน จึงทำให้ลดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ หรือทักษะในการประกอบอาชีพ จากการไม่ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานกว่า 1.3 ล้านคน และวัยทำงานที่เป็นคนว่างงาน 17.9% หรือกว่า 6 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังพบว่า แรงงาน ทั้งในและนอกระบบส่วนมาก ยังไม่มีแผนการออม ทำให้ไม่มีเงินใช้จ่าย ในยามฉุกเฉิน ด้วยสถานะของแรงงานในระบบ ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ กลายเป็นบุคคลที่มีทักษะเชิงเดี่ยว ไม่สามารถปรับตัว เพื่อประกอบอาชีพอื่นได้ในทันที

ดังนั้น จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงมีแนวโน้มที่จะมีคนว่างงาน และคนที่มีรายได้น้อยลง เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีลดลง เพราะขาดรายได้ ขาดความรู้ ในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง

เข็มเพชร
เข็มเพชร เลนะพันธ์

นางเข็มเพชร กล่าวต่อว่า สสส. ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงริเริ่มโครงการ “ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ” โดยมีเป้าหมาย สนับสนุนทุน ให้ประชาชนที่สนใจ 100 โครงการ โครงการละ 50,000-100,000 บาท ภายใต้ประเด็นการทำงาน 3 ด้าน คือ

1. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมาย ให้มีความรอบรู้ ด้านสุขภาพ และทักษะด้านการเงิน เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตวิถีใหม่ในสังคม เพิ่มขีดความสามารถ ในการวางแผนค่าใช้จ่าย และการออม การลงทุน และส่งเสริมการมีส่วนร่วม ใช้พลังกลุ่มแก้ปัญหา เพิ่มขีดความสามารถ ในการพึ่งพาตนเอง

2. ส่งเสริมให้คนในชุมชน พัฒนาแหล่งอาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

3. ส่งเสริมการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างอาชีพ-รายได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ เกิดกิจกรรมสุขอนามัย ในย่านชุมชน เช่นตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหาร

ตกงานหนี้ ปิดกิจการ ๒๑๐๔๑๖

พร้อมกันนี้ ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด เมื่อช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และพื้นที่ควบคุมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อีก 14 จังหวัด โดยมีระยะเวลาการดำเนินงาน ตั้งแต่วันนี้ ถึงเดือนมกราคม 2565

สำหรับโครงการดังกล่าว สสส. หวังเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ในการอยู่รอด มุ่งสานพลังระดับพื้นที่ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยนวัตกรรม กลไกที่ทันต่อสถานการณ์ รวดเร็วและคล่องตัว โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป เสนอโครงการเข้ามาขอสนับสนุนทุน ผ่านหน่วยจัดการ (Node) 5 หน่วยจัดการ ครอบคลุมทุกภูมิภาค

ปัจจุบัน มีประชาชนสนใจเสนอโครงการแล้วกว่า 100 โครงการ ซึ่ง สสส. จะพิจารณากลั่นกรองโครงการที่มีคุณสมบัติ และความพร้อม ในการขับเคลื่อนโครงการ โดยหน่วยจัดการ จะเป็นพี่เลี้ยงจัดกระบวนการ เสริมทักษะพัฒนาศักยภาพ ให้แก่ผู้รับทุนที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo