Business

‘สินเชื่อดิจิทัล’ มูลค่าตลาด 1.25 หมื่นล้าน ชี้โอกาส หลังโควิด-19 คลี่คลาย

สินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) เป็นให้บริการสินเชื่อ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยอาจใช้ข้อมูลทางเลือกอื่น เพื่อประกอบการพิจารณาเครดิต

นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยี AI หรือ Big Data Analytics มาช่วยในกระบวนการพิจารณา สินเชื่อดิจิทัล ให้มีความรวดเร็วมากขึ้น ให้สามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ที่อาจยังไม่เคยเข้าถึง หรือ มีข้อจำกัดในการเข้าถึง แหล่งกู้ยืมเงิน จากสถาบันการเงินหลักในระบบมาก่อน เช่น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ รับจ้าง กลุ่มค้าขายที่มีรายได้ไม่แน่นอน รวมถึงกลุ่มบุคคลทั่วไป ที่มีเงินได้ประจำปานกลางระดับต่ำ เป็นต้น

สินเชื่อดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม การให้สินเชื่อดิจิทัลส่วนใหญ่ มักอยู่ในรูปแบบของ สินเชื่อส่วนบุคคล และ สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ ที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ หรือ บุคคลค้ำประกัน

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดวงเงินสินเชื่อดิจิทัลที่ 20,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 เดือน เพื่อให้เหมาะสม กับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือ ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย สามารถให้วงเงินสินเชื่อดิจิทัลต่อลูกค้า 1 ราย ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ได้ไม่เกิน 20,000 บาท โดยกำหนดระยะเวลา การชำระคืนสินเชื่อดิจิทัล ไม่เกิน 3 เดือนหลังจากที่ลูกค้าเบิกถอนยอดสินเชื่อนั้น

ส่วนอัตราดอกเบี้ย ธปท. กำหนดเพดานดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียมใดๆ ไม่เกิน 28% เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับลูกค้าเกินไป โดยเฉพาะกับกลุ่มเป้าหมาย ที่ปกติพึ่งพาหนี้สินนอกระบบ ทั้งนี้ หากลูกหนี้ชำระคืนสินเชื่อก่อนกำหนด ห้ามเก็บค่าธรรมเนียม หรือ prepayment fee

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบัน จะมีบริการสินเชื่อหลายประเภท แต่พบว่ายังมีประชาชนบางกลุ่ม ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ หรือไม่สามารถพิสูจน์รายได้ และไม่มีทรัพย์สิน ที่สามารถใช้เป็นหลักประกัน จึงทำให้ต้องพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง และไม่มีมาตรฐาน ในการให้บริการ โดยพบว่าลูกค้ากลุ่มนี้ มักถูกปฏิเสธสินเชื่อ เพราะไม่สามารถประเมินฐานะทางการเงิน วงเงิน และ ความเสี่ยงในการชำระหนี้ได้

ปัจจุบัน นวัตกรรมทาง เทคโนโลยีดิจิทัล และพัฒนาการด้านข้อมูล ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจ มีเครื่องมือในการประเมินความสามารถ โดยไม่จำเป็นต้องใช้หลักฐาน แหล่งที่มาของรายได้แบบดั้งเดิม เช่น รายการเดินบัญชี ข้อมูลการชำระเงิน ค่าสาธารณูปโภค พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ ตลอดจนข้อมูลการซื้อขายสินค้าและบริการ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพื่อประเมินความสามารถ และความเต็มใจ ในการชำระหนี้ของลูกค้า

การให้บริการสินเชื่อดิจิทัลในประเทศไทย ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และมีขนาดเล็ก เนื่องจากผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัล ไม่มีข้อมูลเครดิตลูกค้าที่เพียงพอ ต่อการประเมินความเสี่ยง ส่งผลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลโดยส่วนใหญ่ ยังคงเลือกที่จะให้สินเชื่อแก่ลูกค้ากลุ่มเดิม ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี รวมถึงลูกค้ารายใหม่ ที่มีรายได้แน่นอน หรือ มีรายการเดินบัญชีที่ชัดเจนเป็นหลัก

money ๒๐๐๗๒๕

สำหรับผู้ให้บริการ มักทำการอนุมัติวงเงินขนาดเล็ก ระยะเวลากู้ยืมแบบสั้น 1–3 เดือน และคิดดอกเบี้ยในระดับสูง ซึ่งเหมาะสำหรับ ลูกค้าที่ต้องการเงินฉุกเฉิน เพื่อการอุปโภคบริโภค หรือใช้หมุนเวียนในกิจการขนาดเล็ก ตลาดสินเชื่อดิจิทัลในไทย จึงมีมูลค่าที่ไม่สูงมาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2563 ตลาดสินเชื่อดิจิทัลทั้งระบบน่าจะมียอดคงค้าง 12,000–12,500 ล้านบาท หรือ 0.2% ของยอดคงค้างสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด

​ผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัล มีโอกาสขยายฐานลูกค้า ด้วยการมุ่งเน้นทำตลาด ไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ ๆ ได้อีกมาก โดยเฉพาะหลังจากเศรษฐกิจฟื้น เมื่อการแพร่ระบาดของ โควิด-19 คลี่คลายลง

แต่การจะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยผลักดันสองประการ ได้แก่

  • การขยายขอบเขตการใช้ข้อมูล ในการพิจารณาสินเชื่อ ไปสู่การใช้ข้อมูลทางเลือกมากขึ้น อาทิ ข้อมูลชำระค่าสาธารณูปโภค พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ พฤติกรรมการซื้อขายสินค้า บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ฯลฯ
  • การลงทุนด้าน เทคโนโลยีดิจิทัล ของกลุ่มผู้ประกอบการ ทั้งรายเดิมและรายใหม่ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือฟินเทค เพื่อให้กระบวนการพิจารณาสินเชื่อ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ ๆ สามารถเข้าถึงบริการได้ในวงกว้างมากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo