ฟาร์มผักในเมือง ฟาร์มปลูกผักในร่ม กำลังเป็นกระแสนิยมทั่วโลก เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ และความต้องการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เจาะคนเมือง
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนต่างๆ ที่มีความถี่จะเกิดมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภค เริ่มให้ความสำคัญ กับความปลอดภัยด้านอาหาร และ การตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจากรูปแบบธุรกิจ ที่มีจุดแข็งสำคัญคือ Supply Chain ที่สั้น ของ ฟาร์มผักในเมือง จึงทำให้ได้ผักที่ สะอาด สดใหม่ และซื้อขายได้ทันที ณ แหล่งผลิต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สำหรับประเทศไทยช่วง 1-2 ปีถัดจากนี้ อาจเห็นธุรกิจฟาร์มปลูกผักในเมืองเพิ่มขึ้น เพราะด้วยเทคโนโลยีการปลูก ที่ให้ผลผลิตต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่ และหนึ่งหน่วยเวลาที่สูงกว่าปกติ 10-300 เท่า (ขึ้นอยู่กับชนิดของผัก คุณภาพและความยากง่ายในการปลูก)
อีกทั้งมูลค่าผลผลิต ที่ได้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าปกติ 2-3 เท่า น่าจะเป็นโอกาสทางการตลาดสำคัญ ที่ทำให้นักลงทุน 2 กลุ่มหลัก เข้ามาลงทุนในตลาดนี้มากขึ้น คือ 1. นักลงทุน ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร 2) กลุ่มผู้ประกอบการ ที่ต้องการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบทางการเกษตรเอง เช่น กลุ่มเชนร้านอาหารสุขภาพที่มีหลายสาขา เป็นต้น
สำหรับทำเล ที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญ ในการลงทุน ได้แก่ พื้นที่ใจกลางเมืองที่มีผู้คนอาศัย หรือสัญจรเป็นจำนวนมาก อาทิ ห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารสูง เป็นต้น เพื่อป้อนให้กับลูกค้าเป้าหมายที่สนใจ และพร้อมเต็มใจจ่าย กับสินค้ากลุ่มนี้ อาทิ คนรักสุขภาพ ผู้ออกกำลังกายหรือผู้รักการทำอาหาร
ส่วนในระยะต่อไป กลุ่มลูกค้าใหม่ที่น่าจับตาคาดว่า น่าจะอยู่ในกลุ่มของโรงแรม โรงพยาบาล เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจ ที่ต้องการสินค้าคุณภาพสูง เพื่อนำเสนอให้กับลูกค้า ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น ทั้งจากเทรนด์การบริโภคเพื่อสุขภาพ ที่มีมาก่อนหน้านี้สักระยะแล้ว และความกังวลจากโควิด-19 ที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจนี้ จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้เข้าถึงความปลอดภัยด้านอาหารมากขึ้น
การเพิ่มขึ้นของฟาร์มผักในเมือง แน่นอนว่าจะทำให้ผู้บริโภคในเมือง มีโอกาสเข้าถึงสินค้ากลุ่มผัก ที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นในฝั่งผู้บริโภค
แต่คงต้องยอมรับว่า ในฝั่งของผู้ประกอบการธุรกิจนี้ ในไทย ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และเงื่อนไขของความสำเร็จในอนาคต ก็ยังเป็นประเด็นที่ท้าทายอยู่พอสมควร ทั้งในเรื่องของการเลือกหรือลงทุน ในทำเลที่ตั้งฟาร์ม ที่จะต้องใกล้หรือเข้าถึงผู้บริโภคมากหรือเร็วที่สุด การเลือกชนิดผักที่ปลูก ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคเป้าหมายเพื่อ สุขภาพ ในแต่ละช่วงเวลา การพัฒนาสายพันธุ์หรือรสชาติของผัก ที่ต้องอาศัยนวัตกรรมเทคนิคการปลูกระดับสูง
นอกจากนี้ หากต้องการขยายกิจการ หรือลงทุนเพิ่ม ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น อาจจะต้องอาศัยการระดมทุน (Raise Fund) ในลักษณะเดียวกับ สตาร์ทอัพ เพื่อหาสถานที่ที่เหมาะสม บุคลากร รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูก เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจ หรือมีการจับมือ หรือร่วมลงทุน กับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น กลุ่มฟาร์มปลูกพืชในร่มด้วยกัน กลุ่มนวัตกรรมแสงเทียม LED กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์สำหรับโรงผลิตพืช เป็นต้น ซึ่งเป็นเม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง
ยกตัวอย่างเช่น ในการลงทุนฟาร์มปลูกผักเพื่อสุขภาพ โดยใช้พื้นที่ 20-25 ตารางเมตร มีค่าลงทุนโรงเรือนและระบบเริ่มต้นอยู่ที่ 2,000,000 ล้านบาท เลือกทำเล ใจกลางเมือง เพื่อประโยชน์ด้านโลจิสติกส์ ทำให้อาจมีค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สูง และมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าแรง ค่าวัตถุดิบ ค่าการตลาด ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท ต่อ เดือน
เบื้องต้นพบว่า ธุรกิจอาจต้องใช้เวลาเฉลี่ย 3-5 ปีกว่าจะคืนทุนหรือ Breakeven ซึ่งปัจจัยสำคัญ จะขึ้นอยู่กับการตอบรับของลูกค้า ที่จะมีผลต่อทิศทางการเติบโตของรายได้ และสภาวะการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะตลาด สุขภาพ ด้วย
ดังนั้น แม้มีโอกาสทางการตลาด จากวิถีการบริโภคของผู้บริโภคคนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ให้การสนับสนุนการลงทุน ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี แต่ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายหากจะเข้าสู่ตลาดนี้
เงื่อนไขความสำเร็จ คงอยู่ที่ความพร้อมด้านเงินลงทุน ทำเลที่ตั้ง ความพร้อมด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการธุรกิจ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสการบริโภค ที่จะรวดเร็วมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผู้ลงทุน ต้องพิจารณาทุกปัจจัยอย่างรอบคอบ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- พช. ลุยเฟส 2 ‘ปลูกผักสวนครัว’ ยุติความหิวโหย สร้างความมั่นคงทางอาหาร
- เมนู ‘พืชผักสมุนไพร’ ใกล้ตัว แก้ 4 ปัญหา ผู้สูงวัย สู้โควิด-19
- ‘เจียไต๋’ จัดชุดปลูกผักปลอดภัย คลายเครียดช่วงเก็บตัวอยู่บ้าน